ฉบับที่ 169 กรณีน้ำอัดลมระเบิดเป็นเหตุให้เจ็บตัว มาดูว่าเจ้าของบริษัทฯ ชี้แจงอย่างไร

จากกรณีนี้  ที่คุณณิชาพร ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  ว่าบุตรชายได้รับบาดเจ็บสาหัสจากขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิดใส่  จนตาซ้ายบอดสนิทใช้การไม่ได้นั้น (จากฉบับที่ 165 )

หลังการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้แนะนำให้คุณณิชาพรรวบรวมพยานหลักฐาน และนัดเจรจาไกล่เกลี่ยให้กับคุณณิชาพร กับบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ในวันที่ 23 มกราคม 2558  โดยภายหลังการเจรจาบริษัทผู้ประกอบการน้ำอัดลมเอส ได้ชี้แจงเป็นหนังสือถึงสาเหตุการแตกของผลิตภัณฑ์ให้กับศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทราบ โดยผู้เขียนขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบทั่วกัน ดังนี้

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้เศษแก้วของขวดน้ำอัดลมกระเด็นเข้าที่คางและตาด้านซ้ายของผู้บาดเจ็บ ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บไม่ได้รักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ เกิดเหตุประมาณ 2.00 น. นายจ้างพาไปส่ง รพ. 3.00 น. แต่ได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประมาณ 8.00 น.

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตน้ำอัดลมของบริษัทฯ มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัยกับผู้บริโภค มีมาตรการควบคุมคุณภาพในการผลิตที่เข้มงวดทุกขั้นตอน โดยกระบวนการผลิตด้วยระบบเครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัย มีการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ตลอดถึงระบบการผลิตภายใต้ระบบคุณภาพและสุขลักษณะที่ดีในการผลิต GMP&HACCP ตามมาตรฐานสากล

บรรจุภัณฑ์ขวดแก้วที่ใช้สำหรับน้ำอัดลมซึ่งมีแรงดันจากก๊าซภายในขวด สำหรับมาตรฐานการผลิตขวดประเภทนี้จะต้องมีความหนาและสามารถทนต่อแรงดันได้ โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรม (มอก) “ขวดแก้วสำหรับเครื่องดื่มประเภทอัดก๊าซ” การทดสอบความต้านทานต่อความดัน มาตรฐานที่ 229 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งสำหรับขวดแก้วของบริษัทฯ มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่า 253 ปอนด์/ตร.นิ้ว ออกแบบไว้มีค่าสูงกว่ามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่กำหนดไว้และสามารถทนแรงดันได้มากกว่า ซึ่งขณะบรรจุผลิตภัณฑ์มีความดันก๊าซในขวดเพียง 35-45 ปอนด์/ตร.นิ้ว ซึ่งขวดแก้วบรรจุน้ำอัดลมของบริษัทฯ สามารถทนแรงดันและมีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำไปใช้งาน

ข้อชี้แจงดังกล่าว จึงสรุปได้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับผู้บาดเจ็บ ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติหรือความบกพร่องในกระบวนการผลิตของบริษัทแต่อย่างใด

จากการชี้แจงของบริษัทฯ ชัดเจนมากกว่า บริษัทฯ ไม่ประสงค์จะเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดพลาดของบริษัทฯ  ส่วนที่ขวดแก้วน้ำอัดลมระเบิด จะเกิดจากอะไรก็สุดแต่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะคิดไปเอง  เพราะบริษัทฯ บอกไม่รับรู้ด้วยแล้ว       แล้วอย่างนี้ผู้บริโภคที่เสียหายจะขอความเป็นธรรมได้อย่างไร

เห็นคำชี้แจงมาแบบนี้ ผู้เขียนคิดเอาเองว่า ต่อจากนี้ผู้อ่านทุกท่าน ผู้บริโภคทุกคนคงต้องมีความระมัดระวัง  และตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยด้วยตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาจะดื่มน้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว หรือแค่อยู่ใกล้ๆ น้ำอัดลมที่เป็นขวดแก้ว เพราะว่าสักวันอาจจะเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นได้ใครจะรู้  เนื่องจากไม่เคยมีคำเตือน ให้ระวัง หรือการแจ้งเตือนจากผู้ประกอบการถึงวิธีการป้องกันหรือการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้แต่อย่างใด  แน่นอนกรณีแบบนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่พอเกิดเหตุขึ้น ก็ไม่มีผู้ใดออกมาแสดงความรับผิดชอบเหมือนทุกครั้งไป

ต่อจากนี้คงต้องเป็นการตัดสินใจของคุณณิชาพร ผู้เสียหาย ว่าจะดำเนินการต่ออย่างไร จะใช้สิทธิทางกฎหมายของผู้เสียหายฟ้องคดีหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้หากจะต้องฟ้องร้องเป็นคดีความกันจริง ผู้เขียนขอเสริมตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากันอีกซักนิด

กรณีนี้ เข้าลักษณะการเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามนิยามความหมายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ที่หมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไมได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้

ซึ่งตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 นี้ มีอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และสามารถเรียกร้องค่าเสียหายต่อจิตใจได้ด้วย

ดังนั้นกรณีนี้ผู้อ่านฉลาดซื้อจะต้องติดตามเสียงผู้บริโภคกันอย่างไม่คลาดสายตา เพราะหากเรื่องนี้ฟ้องเป็นคดีความและมีความคืบหน้าเมื่อไหร่ ผู้เขียนจะต้องนำมาขยายผลให้ท่านผู้อ่านรับทราบกันอย่างแน่นอน อย่าลืมติดตามกันนะครับ !!!


อัพเดทล่าสุด 31 พ.ค. 60

ศาลแพ่งพิพากษาให้เครื่องดื่มน้ำอัดลม เอส จ่ายค่าเสียหายให้ผู้บริโภคกว่า 2 ล้านบาท หลังพิสูจน์พบว่ากระบวนการผลิตสินค้าไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคเสนอให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีจะเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ

31 พ.ค. 60 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยผลการพิทักษ์สิทธิให้กับผู้บริโภค กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 57 ผู้บริโภคซึ่งเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานพิเศษช่วงเย็นเป็นพนักงานร้านอาหารขณะนำขวดเครื่องดื่มน้ำอัดลมยี่ห้อดังกล่าวใส่ถาดไปเสิร์ฟให้ลูกค้าเกิดระเบิดขึ้น ทำให้เศษแก้วกระเด็นเข้าตาข้างซ้ายเป็นเหตุให้เลนส์ตาซ้ายแตกทำให้ตาบอด หลังการเกลี่ยไกล่ไม่ได้ผลจึงยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค โดยฟ้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เรียกค่าเสียหาย 10,897,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 บาท ต่อปี นับจากวันยื่นฟ้อง นั่นคือวันที่ 18 พ.ค. 58

หลังการพิจารณาคดีศาลได้พิพากษาเมื่อวันที่ 8 ก.พ.60 ให้จ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,430,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันเกิดเหตุไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยคิดดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้อง รวมทั้งชำระค่าสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพทั้งปัจจุบันและอนาคตอีก 900,000 บาท โดยให้สงวนสิทธิ์ที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงิน รวมถึงค่ารักษาพยาบาลในอนาคตไว้จนกว่าจะรักษาเสร็จ ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่มีคำพิพากษา


นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความจากศูนย์ทนายอาสามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า การยื่นฟ้องในคดีนี้ ภาระการพิสูจน์อยู่กับผู้ประกอบการ ที่จะต้องพิสูจน์ว่าสินค้าของตัวเองปลอดภัย

“ในการสู้คดีนั้นสู้กันด้วยหลักวิชาการซึ่งพบว่าแม้จะมีการตรวจวัดแรงดันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขวดน้ำอัดลม แต่มีการนำขวดเก่ากลับไปใช้ซ้ำ จะเลิกใช้ขวดที่ชำรุดก็ต่อเมื่อขวดชำรุดเห็นประจักษ์ ซึ่งขวดที่อาจมีการชำรุดเราจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นเลย รวมถึงการขนส่ง การนำไปแช่ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบเชียบพลัน การถูกกระแทกเวลาขนส่ง ล้วนส่งผลต่อการชำรุดของขวด เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ศาลจึงตัดสินว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าเพื่อจะวิเคราะห์ได้รวดเร็วขึ้นผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าไม่ปลอดภัยควรเก็บหลักฐานนั้นไว้ด้วย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้พิสูจน์ รวมถึงหากมีบิลค่ารักษาพยาบาลต่างๆก็ควรเก็บไว้เพื่อใช้ประกอบการเรียกค่าชดเชยต่างๆได้

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าไม่เฉพาะผู้ประกอบการรายนี้เท่านั้น อยากให้รายอื่นๆตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วย อยากให้มีกระบวนการเยียวยาผู้บริโภคที่รวดเร็วเพราะความเสียหายจากสินค้าอาจเกิดขึ้นได้

“การได้รับความเสียหายจากสินค้าอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บริโภคเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ผู้ประกอบการต้องชดเชยให้กับผู้บริโภค ไม่ต้องให้ผู้บริโภคฟ้องแล้วถึงจะเยียวยา ถ้าผู้ประกอบการตระหนักถึงจุดนี้น่าจะเป็นผลดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการใช้สินค้านั้นต่อไป และเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าของตัวเองด้วย” นางนฤมลกล่าว

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ขวด น้ำอัดลม ระเบิด

ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เปิดคลินิกในปั๊มน้ำมันแบบนี้ก็ได้หรือ

        ความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคทุกคนต้องร่วมด้วยช่วยกัน เพราะหากปล่อยไว้วันหนึ่งความเสียหายอาจมาถึงตัวเราเองและคนใกล้ตัวเข้าสักวัน         วันหนึ่งเมื่อคุณกองฟางพบว่า ในปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองสกลนครมีการเปิดคลิกนิกให้บริการทางการแพทย์ เขารู้สึกแปลกใจ เพราะไม่คิดว่า คลินิกจะสามารถตั้งอยู่ในสถานที่เช่นนี้ได้ เพราะโดยปกติในปั๊มน้ำมันจะพบเห็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ และร้านสะดวกซื้อเท่านั้น        เมื่อความสงสัยและประหลาดใจเกิดขึ้นแล้ว มันต้องเคลียร์เพื่อไม่ให้คาใจคุณกองฟางจึงได้พยายามสอบถามข้อมูลจากผู้คนต่างๆ และได้รู้ข้อมูลต่อมาว่าในคลินิกแห่งนี้มีผู้อ้างตนว่าเป็นแพทย์ หรือ มีการทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นแพทย์ ทำการตรวจรักษาโรค จ่ายยา ฉีดยา เช่นเดียวกับแพทย์ ก็ยิ่งทำให้ไม่สบายใจมากขึ้น จากความสงสัยในตอนแรกว่าสถานที่ตั้งคลินิกถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ เพราะหน้าร้านมีเพียงป้ายระบุชื่อคลินิกขนาดเล็ก ไม่มีป้ายแสดงชื่อผู้ตรวจ ชื่อประเภทและลักษณะการให้บริการ ไม่มีเลขที่ใบอนุญาต จึงนำมาสู่การตั้งคำถามว่าผู้ตรวจรักษาโรค เป็นแพทย์จริงหรือไม่และคลินิกได้รับอนุญาตเปิดคลินิก ถูกต้องหรือไม่ คุณกองฟางจึงเข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่ม  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณกองฟาง พร้อมทำหนังสือถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร เพื่อให้ตรวจสอบว่าคลินิกดังกล่าวได้จดทะเบียนและเปิดให้บริการอย่างถูกต้องหรือไม่ แล้วการอนุญาตให้เปิดในปั๊มน้ำมันนั้นสามารถทำได้หรือไม่         ต่อมาวันที่ 21 มี.ค. 2567 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้รายงานผลการดำเนินการตรวจสอบการขออนุญาตของคลินิกว่าภายหลังจากที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนครได้ลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 12 .ก.พ. พบว่า คลินิกที่ถูกร้องเรียนนี้มีปัญหาจริงหลายประการ เจ้าหน้าที่จึงให้การอนุญาตแบบมีเงื่อนไขโดยให้คลินิกปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ต่อมาพบว่า คลินิกดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการแก้ไขให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนด  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจึงออกคำสั่งยกเลิกและคืนคำขออนุญาตทำให้คลินิกต้องปิดตัวลง           กรณีนี้มีข้อที่ประชาชนควรรู้คือการเปิดคลินิกให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2551 การเปิดให้บริการคลินิกแต่ละประเภทต่างๆ เช่น คลินิกทันตกรรม  คลินิกกายภาพบำบัด  คลินิกเวชกรรมต่างๆ กฎหมายได้กำหนดมาตรฐานที่ผู้ขอเปิดให้บริการต้องดำเนินการไว้แตกต่างกัน...หากประชาชนพบความผิดปกติ หวาดกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยสามารถร้องเรียนเรื่องเข้ามาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องเรียนโดยตรงได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดของแต่ละพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบ บังคับใช้กฎหมายเช่นกรณีนี้         สำหรับกรณีเรื่องสถานที่ตั้งในปั๊มน้ำมันนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุชัดว่าได้หรือไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ซื้อประกันเดินทางแต่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

        ปัญหาเคลมประกันไม่ได้ ประกันไม่จ่ายตามเงื่อนไข หรือจ่ายน้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ รวมไปถึงการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำประกันภัยเกิดขึ้นอยู่เสมอ ในครั้งนี้คือเรื่องของคุณพีพีกับการประกันการเดินทาง         คุณพีพีได้ซื้อกรมธรรม์การเดินทางภายในประเทศจาก จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในระยะ 4 วัน ไปกลับจากกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 คุณพีพีนั้นไม่เคยซื้อประกันการเดินทางมาก่อน แต่ก็ได้ลองศึกษาจากเว็บไซต์ รวมถึงพิจารณาเอกสารต่างๆ ที่บริษัทแนะนำแล้วยังโทรไปสอบถามกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง ทั้งยังจำลองเหตุการณ์ต่างๆ ว่าหากบาดเจ็บกรณีต่างๆ ประกันจะได้ครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ให้คำตอบยืนยันว่า หากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ดังกล่าว         การประกันคือการคุ้มครองความเสี่ยง ดังนั้นคงไม่มีใครอยากจะบาดเจ็บหรือมีทรัพย์สินเสียหาย แล้วเข้าสู่การเคลมประกัน  การซื้อของคุณพีพีครั้งนี้คือ เพื่อความสบายใจ แต่...วันที่ 1 ธ.ค. 2566 คุณพีพีก็เกิดอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มจากการที่รถตกหลุมถนนทำให้คุณพีพีมีแผลถลอกที่เข่าซ้าย – ขวา ข้อศอกทั้งสองข้าง แผลถลอกใหญ่ที่หน้าแข้ง ฝ่ามือซ้ายและขวา ฟันหน้าบนบิ่น 1 ซี่และหัก 1 ซี่ และอีกหลายอาการเจ็บปวด คุณพีพีจ่ายค่ารักษาไปทั้งหมด 23,917 บาท แต่บริษัทประกันกลับพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท เท่านั้น โดยบริษัทประกันได้อ้างว่าคุ้มครองการบาดเจ็บภายในระยะวันที่ 30 พ.ย.- 3 ธ.ค.2566 เท่านั้น ไม่คุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการบาดเจ็บที่ต่อเนื่องแม้เกิดขึ้นในระยะเวลาที่ประกันคุ้มครองก็ตาม         คุณพีพีไม่ยอมรับการพิจารณาของบริษัทประกันภัยเพราะก่อนการตัดสินใจซื้อได้โทรศัพท์สอบถามกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทหลายครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าหากการบาดเจ็บเกิดขึ้นในระหว่างการเดินทาง คุณพีพีสามารถเบิกค่าใช้จ่ายกับประกันได้จนกว่าจะรักษาหาย รวมถึงสื่อในรูปแบบอื่นๆ ของบริษัทก็ใช้ถ้อยความให้ผู้ซื้อประกันเข้าใจว่าครอบคลุมจนกว่าจะรักษาหาย คุณพีพีจึงเข้ามาขอคำแนะนำและความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพี่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรต่อไป เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ตนเอง  แนวทางการไขแก้ปัญหา         หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว มูลนิธิฯ ได้ประสานกับคุณพีพีเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานประสานส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยคุณพีพีได้เข้าร้องเรียนที่ คปภ.ทำให้บริษัทประกันภัยได้เข้ามาชี้แจงข้อปัญหาที่เกิดขึ้นต่อ คปภ. บริษัทยืนยันว่ากรมธรรม์ไม่ครอบคลุมการรักษาต่อเนื่องแต่เกิดจากความผิดพลาดของการสื่อสารภายในของบริษัทเอง จึงพิจารณาให้ “สินไหมกรุณา” ให้กับคุณพีพีจากเดิมที่บริษัทพิจารณาให้เพียง 4,997 บาท คุณพีพีจึงได้รับค่าสินไหมกรุณาแล้วจำนวน 20,000 บาท  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พิจารณารายละเอียดของข้อความที่ทำให้ตีความได้กว้างและบริษัทนำมาใช้อ้างว่าไม่ครอบคลุมเพราะไม่มีการระบุไว้ชัดเจนนั้น คุณพีพีได้ส่งร้องเรียนถึงศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย คปภ. โดยเฉพาะเพื่อให้พิจารณาว่ากรณีของคุณพีพีเป็นการตีความที่ไม่คุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันทางศูนย์ฯ ของ คปภ. กำลังดำเนินการ         “ผลการพิจารณาของ คป. สำคัญมาก ทำให้สังคมรู้ว่าข้อความอะไรในกรมธรรม์ที่คลุมเครือแล้วจะถูกเอาเปรียบได้ แล้วบริษัทจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องอย่างไร ซึ่งผมจะติดตามต่อไป เพราะกรมธรรม์ที่ชัดเจนจะทำให้ผู้บริโภคคนอื่นๆ ไม่ตกเป็นเหยื่อแบบผมครับ”

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ร้านไม่รับผิดชอบ เจาะหูลูกค้าพลาดจนใบหูฉีกขาด

        หากคุณกำลังคิดจะไปใช้บริการเจาะหูตามร้านเครื่องประดับต่างๆ ขอให้อ่านเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์         แม้เหตุการณ์จะผ่านมาปีกว่าแล้ว แต่ยังปรากฏร่องรอยความเสียหายไว้ชัดเจน...วันนั้นคุณโนริตัดสินใจไปใช้บริการเจาะหูที่ร้านเครื่องประดับเงินแห่งหนึ่ง ย่านกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยเธอเลือกรูปแบบเป็นการเจาะหูเพื่อดามกระดูกอ่อนใบหูในแนวทแยง (Cartilage) ส่วนบนติดกับขมับ แต่...เกิดข้อผิดพลาด เมื่อใบหูบนส่วนที่เจาะกระดูกออกขาดเนื่องจากทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง ทำให้ใบหูของเธอฉีกขาด เธอตกใจมากและถามหาความรับผิดชอบ แต่ทางร้านบอกปัดว่าไม่ใช่ความผิดของทางร้าน         วันนั้นเธอจึงไปลงบันทึกประจำวันเรื่องที่ได้รับความเสียหายจากกการใช้บริการเจาะหูจนใบหูขาดนี้ที่สถานีตำรวจไว้ก่อน หลังจากนั้นจึงไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา แพทย์แจ้งว่าจะต้องทำการศัลยกรรมเพื่อให้ใบหูกลับมาเป็นปกติ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง เธอจึงได้กลับไปเจรจากับทางร้านอีกครั้ง โดยยืนยันว่าที่ใบหูเธอขาดก็เพราะทางร้านเจาะหูผิดตำแหน่ง แต่ทางร้านก็ยังปฏิเสธเสียงแข็งเหมือนเดิมว่าไม่ได้ทำอะไรผิด         จากวันที่เกิดเหตุการณ์ ขณะนี้ผ่านมาปีกว่าแล้วที่คุณโนริยังไม่ได้รักษาใบหูให้ติดกันเป็นปกติเนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก เธอรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอความช่วยเหลือว่าทำอย่างไรจึงจะให้ทางร้านเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ มูลนิธิฯ ได้โทร.กลับไปเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม แล้วให้ผู้ร้องส่งเอกสารมาทางอีเมลของมูลนิธิฯ ได้แก่ สำเนาใบลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ สำเนาใบรับรองแพทย์  ภาพหน้าจอข้อความที่สนทนากับทางร้าน และภาพความเสียหายที่ใบหู จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือนัดหมายให้คู่กรณีมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อยุติข้อพิพาทกันอีกครั้ง (เพราะเคยผ่านการพูดคุยกันมาบ้างแล้ว)         สิ่งสำคัญของการเรียกร้องการเยียวยาเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้บริการต่างๆ  คือผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องเก็บหลักฐานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นไว้ให้ครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้         กรณีการลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ แนะนำว่าควรเป็นการแจ้งความเพื่อดำเนินคดี เพราะเคสนี้เกิดความเสียหายที่ผู้ร้องเรียนได้รับบาดเจ็บค่อนข้างรุนแรง

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)