ฉบับที่ 186 อาเซียนกับการคุ้มครองผู้บริโภค ฝันไกลที่ต้องไปให้ถึง

    การรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือที่คุ้นกันในชื่อ เออีซี (Asean Economic Community) สร้างโอกาสมากมายให้กับประเทศในอาเซียนที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างกันให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงาน และสินค้า-บริการระหว่างกัน    ทว่า โอกาสมักมาพร้อมความท้าทาย ในมิติสิทธิผู้บริโภค เออีซีนำปัญหาและความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคต้องหันมาให้ความสนใจ ลองนึกดูว่าถ้าสินค้าที่ผลิตในอาเซียนถูกส่งเข้าไปขายในอาเซียนด้วยกัน หากสินค้ามีปัญหาจะมีกลไกอะไรที่จะช่วยคุ้มครองดูแลผู้บริโภคใน 10 ประเทศได้ แล้วถ้าสินค้านั้นเป็นสินค้าประเภทอาหารหรือยา ผลกระทบก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราๆ ที่จะต้องให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และติดตามการทำงานของภาครัฐในการดูแลสิทธิของผู้บริโภค    เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างกลไกการคุ้มครองผู...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!

ฉบับที่ 185 เรื่องที่คนรักสุขภาพต้องรู้ ก่อนสมัครเป็นสมาชิก “ฟิตเนส เซ็นเตอร์”

ยุคนี้เป็นยุคของคนรักสุขภาพ ใครๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ เล่นกีฬา ออกกำลังกายกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะการออกกำลังกายช่วยให้เรามีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ การที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพและออกกำลังกายกันมากขึ้น เป็นผลให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ เปิดให้บริการรองรับกระแสคนอยากออกกำลังกายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาต่อเนื่องจากเหตุการณ์ของ “แคลิฟอร์เนีย ว๊าว” ฟิตเนส เซ็นเตอร์ชื่อดัง ที่มีสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปิดตัวลงในปี 2555 จากการหลอกลวงเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งมีความผิดร้ายแรงถึงขั้นเป็นคดีฉ้อโกง มีผู้เสียมากกว่าหนึ่งพันคน ผลจากกรณีของ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่กับทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องหันกลับมามองหามาตรการควบคุมดูแล และรวมถึงตัวผู้บริโภค ผู้ใช้บริการสถานออกกำลังกาย ที่ต้องให้ความสนใจในเรื่องของมาตรฐานการบริการและเรื่องสัญญาการให้บริการมากขึ้น ปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยแบบ แคลิฟอร์เนีย ว๊าว การเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ ต้องคำนึงถึงหลายๆ องค์ประกอบ มากกว่าจะมองเพียงแค่สุขภาพหรือรูปร่างที่เราจะได้ แต่ยังต้องมองถึงเรื่องสวัสดิภาพความปลอดภัยของสุขภาพร่างกายจากการใช้บริการ ระบบดูแลที่มีมาตรฐานของสถานที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีกรณีที่ชวนให้ตกใจ เมื่อมีผู้ใช้บริการฟิตเนสเสียชีวิตเนื่องจากเหตุไฟไหม้อาคารที่ฟิตเนสดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่แม้ต้นเพลิงจะเกิดขึ้นในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ตรงส่วนของฟิตเนสก็ตามแต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงปัญหาที่ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานปัจจุบัน สถานบริการด้านการออกกำลัง หรือ ฟิตเนส เซ็นเตอร์ มีกฎหมายที่ควบดูแลหลักๆ อยู่ 4 ฉบับ คือ   สถานออกกำลังกาย แบบไหนน่าใช้บริการ จากจำนวนของสถานออกกำลังกายที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ย่อมแสดงให้เห็นถึงความต้องการสถานที่ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ซึ่งหน่วยงานอย่างกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออก  “ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” เพื่อเป็นแนวทางให้กับสถานออกกำลังกายต่างๆ นำไปเป็นปฏิบัติ ซึ่งในมุมของผู้ใช้บริการเองก็จำเป็นต้องทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ที่มีการกำหนดควบคุม เพื่อที่เราจะได้นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการสถานออกกำลังกาย 1.มาตรฐานด้านอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อม- อาคาร สถานที่ตั้ง ทั้งภายใน ภายนอก ต้องดูแล้วมีความมั่นคง แข็งแรง และเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร - ต้องมีการแสดงแผนผังสถานที่ ป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ที่มาใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกทางหนีไฟ ป้ายห้ามสูบบุหรี่ และระเบียบการใช้บริการที่ชัดเจน- ต้องมีการติดตั้งเครื่องมือดับเพลิงแบบมือถือ 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 1,000 ตารางเมตรสำหรับอาคารขนาดใหญ่ และติดตั้ง 1 เครื่องต่อพื้นที่อาคารทุกๆ 100 ตารางเมตร สำหรับอาคารขนาดเล็ก ซึ่งแต่ละเครื่อง ต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นอาคารไม่เกิน 1.5 เมตร สามารถมองเห็นได้ง่าย และนำไปใช้ได้โดยสะดวก- จัดให้มีแสงสว่างเพียงพอ (ไม่น้อยกว่า 200 ลักซ์ (มาตรความสว่าง (lux meter))- ห้องออกกำลังกายที่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีคุณภาพการปรับอากาศที่ดี มีอุณหภูมิระหว่าง 20-25 องศาเซลเซียส และห้องออกกำลังกายที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ควรมีการถ่ายเทอากาศที่เพียงพอไม่มีกลิ่นอันไม่พึงประสงค์- ความดังของเสียงในห้องออกกำลังกายเฉลี่ยสูงสุดต้องไม่เกิน 90 เดซิเบล (เอ)- มีการแบ่งพื้นที่ให้บริการออกกำลังกาย เป็นสัดส่วนที่ชัดเจน เช่น พื้นที่ต้อนรับ พื้นที่สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ออกกำลังกาย และพื้นที่กิจกรรมการออกกลุ่ม- พื้นที่จัดวางอุปกรณ์ ควรมีระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร และช่องทางเดินร่วมไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร- พื้นที่กิจกรรมการออกกำลังกายกลุ่ม มีพื้นที่ให้บริการไม่น้อยกว่า 2x2 ตารางเมตร- มีห้องน้ำ แยกชาย-หญิง อย่างละ 1 ห้องต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 15 คน, 2 ห้อง ต่อผู้ใช้บริการ 40 คน, 3 ห้อง ผู้ใช้บริการไม่เกิน 80 คน และเพิ่มขึ้นต่อจากนี้ 1 ห้อง ต่อจำนวนผู้ใช้บริการไม่เกิน 50 คน มีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้า ห้องอาบน้ำ ล็อคเกอร์เก็บของ และอ่างล้างมือแยกชาย-หญิง ที่สะอาดและเพียงพอ2.มาตรฐานด้านอุปกรณ์ออกกำลังกาย- ต้องมีอุปกรณ์ หรือรูปแบบวิธีการในการสร้างเสริมสุขภาพ ได้แก่ การสร้างเสริมระบบหายใจและไหลเวียนโลหิต การสร้างเสริมระบบกล้ามเนื้อ และการสร้างเสริมการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ- มีระบบและรายงานการตรวจเช็คอุปกรณ์ออกกำลังกายให้มีความแข็งแรง ทนทาน สะอาดและพร้อมใช้งานทุกวัน- ต้องมีป้ายคำแนะนำ คำเตือนในการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ติดไว้เห็นได้ชัดเจน- จัดให้มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการให้บริการด้านสุขภาพ ได้แก่ เครื่องชั่งน้ำหนัก และวัดส่วนสูง เครื่องวัดความดันโลหิต และ สายวัดรอบเอว3.มาตรฐานด้านการให้บริการ- มีการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพแก่สมาชิก ก่อนการให้บริการครั้งแรก เพื่อคัดกรองความเสี่ยง ได้แก่ การชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index : BMI) วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต การจัดทำประวัติสุขภาพ และการตอบแบบสอบถามการประเนิมความพร้อมก่อนออกกำลังกาย- จัดให้มีคำแนะนำ หลักการ และขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โปรแกรมการออกกำลังกาย การประเมินผลสมรรถภาพทางกายและสัดส่วนของร่างกาย- จัดทำป้ายคำแนะนำและคำเตือน ในการออกกำลังกาย โดยติดไว้ให้เห็นอย่างชัดเจน ได้แก่ ป้ายคำแนะนำหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ วิธีการออกกำลังการที่เหมาะสมกับเพศและวัย ข้อควรระวังในการออกกำลังกาย และข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ- มีบริการน้ำดื่มที่สะอาดและมีปริมาณเพียงพออยู่ใกล้บริเวณที่ออกกำลังกาย โดยไม่คิดค่าบริการ4.มาตรฐานบุคลากรผู้ให้บริการ- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ควรมีคุณสมบัติจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ, วิทยาศาสตร์การกีฬา, พลศึกษา และผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ฝึกสอนการออกกำลังกาย (instructor exercise) ที่จัดโดยกรมอนามัย หรือหลักสูตรที่ได้รับการเห็นชอบร่วมกันระหว่างกรมอนามัยและสถาบันการศึกษา- บุคลากรผู้ให้บริการออกกำลังกาย ได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างน้อยปีละครั้ง- บุคลากรผู้ให้บริการด้านการออกกำลังกาย สามารถทำหน้าที่ให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาหลักการและขั้นตอนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กำหนดโปรแกรมการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับเพศ วัย และสภาพร่างกาย คัดกรองสุขภาพก่อนกำหนดโปรแกรมการออกกำลังกาย และประเมินสมรรถภาพของสมาชิกทั้งก่อนและหลังการรับบริการ- มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ 1 คนต่ออุปกรณ์ออกกำลังกายทุกชนิดไม่เกิน 15 เครือง และกรณีการออกกำลังกายกลุ่ม มีบุคลากรรับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน5.มาตรฐานด้านความปลอดภัยและมาตรการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน- ต้องมีแผนเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน และการซ้อมแผน ได้แก่ แผนการช่วยชีวิต และแผนการระงับอัคคีภัย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี และมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ หมายเลขโทรศัพท์สถานพยาบาลใกล้เคียงติดไว้ในที่มองเห็นชัดเจน- ต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล พร้อมใช้ตลอดเวลา โดยชุดปฐมพยาบาลควรเก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดได้สนิท หรืออุปกรณ์ที่กันน้ำ และติดหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินของสถานพยาบาลต่างๆ ไว้ด้วย ที่มา : คู่มือ ข้อแนะนำมาตรฐานสถานประกอบกิจการด้านการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ฉบับที่ 1โดย กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรม อนามัย กระทรวงสาธารณสุข คนไทยกับการออกกำลังกาย   สุขภาพดีได้ไม่ต้องง้อฟิตเนสประโยคที่บอกว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” คงไม่ได้เป็นคำพูดที่เกินความจริงแต่อย่างใด เพราะต่อให้มีเงินไปสมัครตามฟิตเนสชื่อดัง ค่าสมาชิกหลักพันหลักหมื่น อุปกรณ์แน่น เทรนเนอร์เก่ง แต่ถ้าได้แค่สมัครสมาชิกทิ้งไว้โดยไม่เคยไปใช้บริการเลย หรือเดือนหนึ่งจะได้เข้าไปออกกำลังสักครั้งสองครั้ง แบบนั้นสุขภาพดีๆ ก็คงไม่ทางเกิดขึ้นกับเราแน่นอน ฉลาดซื้อ ขอเสนอทางเลือกให้กับคนที่มีใจรักอยากจะออกกำลังกาย อยากจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่อยากต้องเสียทรัพย์ไปกับฟิตเนส เซ็นเตอร์ ด้วย 3 ทางเลือกในการออกกำลังกายที่ทำได้ง่ายด้วยตัวของคุณเอง 1.ออกไปสูดอากาศอันสดชื่นที่ “สวนสาธารณะ”ประเทศไทยเรามีสวนสาธารณะอยู่ทั้งหมด 593 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ (ข้อมูลจากการสำรวจของกองออกกำลังกายฯร่วมกับศูนย์อนามัย) ซึ่งเดี๋ยวนี้เราก็จะเห็นผู้คนจำนวนมากทุกเพศทุกวัย ไปใช้เวลาว่างหลังเลิกงานเลิกเรียน เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายตามสวนสาธารณะต่างๆ ซึ่งหลักๆ ก็มักจะเลือกวิธีเดินหรือวิ่ง แต่สวนสาธารณะหลายๆ ที่ก็ยังมีกิจกรรมออกกำลังกายวิธีอื่นๆ เตรียมไว้รอคนรักสุขภาพ ทั้งเต้นแอโรบิก รำมวยจีน รวมทั้งมีเครื่องออกกําลังกายกลางแจ้ง สำหรับคนที่อยากอยากลองออกกำลังกายโดยใช้อุปกรณ์แต่ไม่อยากลงทุนซื้อเครื่องมาไว้ที่บ้าน และก็ไม่อยากต้องเสียเงินไปสมัครเป็นสามาชิกตามฟิตเนส เซ็นเตอร์ เรียกว่าเราสามารถมีสุขภาพดีได้ไม่ยาก ขอแค่แบ่งเวลาวันละนิด อย่างน้อย 30 นาที หารองเท้าสำหรับออกกำลังกายดีๆ สักคู่ แค่นี้ก็ออกไปออกกำลังกายกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้านได้แล้ว2.ฟิตผ่านหน้าจอ กับช่องออกกำลังกายใน “Youtube”เดี๋ยวนี้เราสามารถหาดูคลิปวิดีโอต่างๆ ได้เกือบจะทุกอย่างผ่านทางเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) แน่นอนว่าวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกายก็มีให้ชมมากมายเช่นกัน ในต่างประเทศจะมีช่องรายการในยูทูป (Youtube Channel) ที่เสนอวิดีโอเฉพาะเกี่ยวกับการออกกำลังกายและการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะเป็นจำนวนมาก สำหรับช่องรายการที่ทำโดยคนไทยที่ให้ความรู้เรื่องการออกกำลังกายก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ฉลาดซื้ออยากแนะนำ 3 ช่องรายการเกี่ยวกับการออกกำลังกายในยูทูป ที่สอนทั้งท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ แค่ดูก็ทำตามได้ทันที พร้อมด้วยความรู้เกี่ยวการดูแลสุขภาพ เรื่องของโภชนาการ เอาไปปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เอาเป็นว่าไปเปลี่ยนชุดสำหรับออกกำลังกาย แล้วเปิดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ คลิ้กรอไว้ที่เว็บไซต์ยูทูปได้เลยFitjunctionsหนุ่มๆ สาวๆ ที่อยากฟิตหุ่นให้เฟิร์ม อยากมีกล้ามอย่างสร้างซิกแพ็ค น่าจะชื่นชอบช่องรายการนี้เป็นพิเศษ  เพราะ Fitjunctions มีคลิปวิดีโอที่สอนท่าออกกำลังกายตั้งแต่เริ่มต้นสำหรับคนทั่วไป ไปจนถึงความรู้สำหรับที่อยากเพิ่มกล้ามเนื้อ ปรับรูปร่างให้ดูใหญ่ขึ้น ที่สำคัญคือมีคลิปที่นำเสนอความรู้เกี่ยวกับร่างกายของเรา การออกกำลังกายแบบไหนมีผลต่อรูปร่างอย่างไร รวมทั้งเรื่องการกินอาหาร ว่ากินอย่างไรถึงจะดีต่อร่างกาย ตามสโลแกนของช่องที่ว่า “แหล่งรวมความรู้เกี่ยวกับการ ฟิตหุ่นและรักษาสุขภาพ  เน้นหลักๆ 3 ข้อ คือ ไม่อดของอร่อย ไม่หักโหม และเน้นที่การสอนความรู้ที่เข้าใจง่าย แต่อิงตามหลักวิทยาศาสตร์”KalamareTVช่องรายการของพิธีสาวเก่งชื่อดังอย่าง “กะลาแมร์ พัชรศรี เบญจมาศ” ที่ทำยูทูป แชนแนล เป็นของตัวเอง โดยในช่องรายการของเธอก็จะรวบรวมหลากหลายผลงานในฐานะพีธีกรของเธอเอาไว้ให้แฟนคลับและคนที่ชอบผลงานของเธอได้เข้ามาชมกัน ซึ่ง 1 ในรายการที่มีให้ชมทาง KalamareTV ก็คือรายการ “ทุกที่ทุกท่ากับกาละแมร์” ซึ่งเป็นคลิปวิดีโอที่พิธีกรคนเก่งจะมาสอนท่าออกกำลังกายง่ายๆ ที่สามารถทำได้ที่บ้าน เรียกว่าเป็นท่าออกกำลังกายที่ประยุกต์มาจากอิริยาบถธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน  ทั้งการนั่ง การยืน การนอน ทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องง่ายสุดๆ ไม่ต้องออกไปไหนไกล แค่อยู่บ้านก็ออกกำลังกายได้Fit Minutes [by Mahidol]ช่องรายการนี้เป็น ช่องรายการย่อยของ มหิดล แชนแนล (Mahidol Channel) เป็นช่องรายการที่จะมาสอนการออกกำลังกายแบบถูกต้องถูกวิธี ที่เราสามารถเข้าใจและทำตามได้ง่ายๆ เพราะมีการอธิบายขั้นตอนต่างๆ แบบละเอียดในการออกกำลังกายแต่ละท่า คำแนะนำที่ถูกต้อง ได้ความรู้ว่าท่าออกกำลังกายแต่ละท่าที่เราทำอยู่มีประโยชน์ต่อร่างกายของเราอย่างไร ส่งผลต่อกล้ามเนื้อส่วนไหน  สามารถทำได้เองสบายๆ ที่บ้าน ซึ่งเราสามารถทำได้ไปพร้อมกับๆ เทรนเนอร์ผู้ฝึกสอนในคลิปได้ทันที3.สุขภาพดีผ่านตำรา ด้วยสารพัดคู่มือออกกำลังกายปัจจุบันมีหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย เทคนิคต่างๆ ในการดูแลสุขภาพและรูปร่างออกมาว่างจำหน่ายเป็นจำนวนมาก สามารถซื้อมามาลองอ่านลองฝึกด้วยตัวเองดูได้ นอกจากนี้ยัง E-book เกี่ยวกับการออกกำลังกายให้โหลดไปอ่านกันฟรีๆ  ซึ่งมี 2 เว็บไซต์ที่ฉลาดซื้ออยากจะแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพอยากออกกำลังกายลองคลิ๊กเข้าไปดูกัน 1.เว็บไซต์ของกองออกกำลังกาย กรมอนามัย (dopah.anamai.moph.go.th) ที่นี่มี E-book ที่เกี่ยวข้องกับการออกกำลังกาย ทั้งความรู้ในการการเล่นกีฬา และดูแลรักษาสุขภาพสำหรับคนทุกเพศทุกวัย เช่น การเดินเพื่อสุขภาพ การออกกำลังสำหรับผู้สูงวัย การออกกำลังกายสำหรับเด็ก การยืดเหยียดพื้นฐาน ฯลฯ2.ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร สสส. (resource.thaihealth.or.th) ในเว็บไซต์นี้จะมีบริการ E-book ให้โหลดไปอ่านกันแบบฟรีๆ จำนวนมาก โดย 1 หมวดหมู่ยอดนิยมก็คือ หมวดการออกกำลังกาย ซึ่งมี E-book ที่แนะนำเรื่องการออกกำลังกายมากกว่า 100 เล่มให้ได้ลองโหลดไปอ่านและฝึกออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 184 สำรวจเครื่องหมาย Q ปลอดภัย-ได้มาตรฐาน? และเรื่องราวที่ใหญ่กว่านั้น

พูดถึงพืชผักผลไม้ ความวิตกกังวลของผู้บริโภคอย่างเราๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องสารเคมีตกค้าง เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิกประการหนึ่งของไทย ยิ่งเมื่อเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ที่เปิดเผยผลการสุ่มตรวจค่าสารเคมีตกค้างจากผักและผลไม้เป็นประจำทุกปี พบว่า ตัวอย่างผักผลไม้ที่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q มีสารพิษตกค้างเกินค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด หรือ MRL มากที่สุดถึงร้อยละ 57.14เรียกได้ว่าข่าวนี้เพิ่มความไม่ไว้ใจต่ออาหารของผู้บริโภคและสะเทือนไปถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เจ้าของเครื่องหมาย Q ถึงขนาดว่ากรมวิชาการเกษตรตั้งท่าจะฟ้อง Thai-PAN ในข้อหาหมิ่นประมาท ขณะที่ Thai-PAN ก็ตอบรับด้วยการบอกว่าจะฟ้องกลับฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่    ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะทำความรู้จักกับเครื่องหมาย Q และปัญหาสารเคมีตกค้างทางการเกษตร ที่ไม่ใช่แค่มิติแคบๆ ว่าเพราะเกษตรกรเห็นแก่ตัว แต่เป็นปัญหาระดับมหภาคที่ต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนสารเคมี-คิว-อาหารปลอดภัย ปัญหางูกินหาง ผู้บริโภคไม่มั่นใจ    ปัญหาสารเคมีตกค้างในพืชผักไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาเรื้อรังที่รู้กันในวงกว้างจนอาจไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวกันอีก มันไม่ใช่แค่ว่าเกษตรกรใช้ยาฆ่าแมลงปริมาณมากและส่งต่อยาพิษสู่ผู้บริโภค แต่ยังมีปัญหาเชิงระบบที่ทำให้เรื่องนี้แก้ยากกว่าที่คิด (ดูล้อมกรอบ-สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด)    และแล้วมันก็สร้างเขาวงกตอันวกเวียนให้เรื่องนี้ เพราะเมื่อสารเคมีตกค้างเป็นปัญหา ภาครัฐซึ่งพยายามส่งเสริมเรื่องอาหารปลอดภัยก็ได้ผลักดันนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อแก้ไข แต่ยังไม่สามารถควบคุมที่ต้นตออย่างการจำกัดการนำเข้าและควบคุมการใช้สารเคมีได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าอุปสรรคสำคัญข้อหนึ่งคืออิทธิพลของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรยักษ์ใหญ่ ในบรรดานโยบายยิบย่อยเหล่านั้นก็มีเครื่องหมายคิวรวมอยู่ด้วย เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัย คิวจึงเกิดขึ้นเพื่อการันตีว่าผักผลไม้ที่ติดเครื่องหมายนี้ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง ซึ่งแน่นอนว่า ราคาของพืชผักประเภทนี้ย่อมมีราคาสูงกว่าตามท้องตลาดโดยทั่วไป ทว่าการตรวจสอบของ Thai-PAN กลับทำให้เห็นว่า คิวไม่สามารถการันตีได้ทั้งที่จ่ายแพงกว่า แล้วผู้บริโภคจะจ่ายแพงกว่าเพื่ออะไร  อิสรีย์ เจียมอนุกูลกิจ เป็นคนหนึ่งที่บริโภคผักผลไม้อินทรีย์มาเกือบ 10 ปีด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและคิดว่าผักและเนื้อสัตว์ปลอดสารมีรสชาติดีกว่า โดยปกติเธอจะซื้อสินค้าเหล่านี้จากซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างและตลาดนัดเกษตรกรบางโอกาส แม้เธอจะไม่รู้จักเครื่องหมายคิวมาก่อน แต่เมื่อเธอรู้ข่าวเรื่องนี้ เธอบอกว่า“รู้สึกหดหู่และผิดหวังที่เราให้ความเชื่อมั่นต่อสิ่งที่เจ้าของฟาร์มได้ให้คำมั่นสัญญาเรื่องความปลอดภัย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ตรวจสอบคุณภาพของสินค้า ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจในการบริโภคผักผลไม้อินทรีย์ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นตัวเลือกที่มีอยู่ไม่มากในกรุงเทพฯ เลยเลือกมองเรื่องความสด สะอาด และรสชาติแทน และหลีกเลี่ยงผักที่มีแนวโน้มที่จะใช้สารเคมีเยอะๆ”-----------------------------------------------------------------------------------------------   สารเคมี: เรื่องใหญ่กว่าที่คิด    การปนเปื้อนสารเคมีในพืชผักผลไม้เป็นเพียงปลายเหตุของห่วงโซ่ปัญหาที่ยาวกว่านั้น รากฐานปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้คือประเทศไทยไม่มีการควบคุมดูแลการนำเข้าและการใช้สารเคมีให้อยู่ในร่องในรอย โดยข้อมูลปริมาณการนำเข้าสารเคมีจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ปี 2553-2558 เรียงตามลำดับคือ 117,815 ตัน, 164,538 ตัน, 134,480 ตัน, 172,826 ตัน, 147,375 ตัน และ 149,546 ตัน    กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก Thai-PAN กล่าวว่า ประเทศไทยนำเข้าสารเคมีทั้งหมดจากต่างประเทศ ซึ่งสารเคมีเหล่านั้นจะต้องมีการขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย จึงจะสามารถจำหน่ายในประเทศได้ ซึ่งการที่สารเคมีตัวหนึ่งจะขึ้นทะเบียนได้จะต้องมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการว่าปลอดภัย หมายถึงไม่มีพิษเกินไปทั้งต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อม ไม่มีการตกค้างยาวนาน การลดจำนวนการขึ้นทะเบียนสำหรับสารเคมีอันตรายถือเป็นการควบคุมชั้นที่หนึ่ง    “ชั้นที่ 2 คือควรมีการควบคุมการขาย การโฆษณาอย่างเข้มงวด มีการกำกับดูแลการใช้ให้เป็นไปตามหลักวิชาการจริงๆ คือทุกครั้งที่ชี้ปัญหานี้ขึ้นมาก็จะโทษว่าเกษตรกรเห็นแก่ตัว แค่นี้มันแก้ปัญหามั้ย อันนี้เป็นโจทย์การกำกับดูแลของหน่วยงานราชการ ซึ่งก็คือกรมวิชาการเกษตรที่ยังทำหน้าที่โดยไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้เกิดการใช้อย่างถูกต้องได้ เขาห้ามใช้ในอาหารก็เอาไปใช้ ห้ามใช้ในข้าวก็ใช้ในข้าว คือสารเคมีเวลาขึ้นทะเบียนจะถูกระบุด้วยว่าใช้ในอะไรได้บ้าง ไม่ใช่ถูกใช้ทั่วไปดังนั้นต้องคุมที่การขายด้วยว่าเอาไปใช้อะไร คนขายจึงต้องเป็นผู้ที่มีความชำนาญการ ได้รับการอบรมเหมือนการขายยารักษาโรค คุณปลูกคะน้า ปลูกแตงโม ใช้อันนี้ๆ ได้ ไม่ใช่เอาไปใช้กับทุกสิ่งอย่าง นี่คือการควบคุมกำกับดูแลการใช้ ซึ่งหมายถึงคุณต้องไปควบคุมที่การขายและการโฆษณา”เปรียบเทียบผลย้อนหลัง แนวโน้มดีขึ้นThai-PAN ทำการสำรวจสารเคมีตกค้างในผักตั้งแต่ 2555-2559 (ยกเว้นปี 2556 ที่ตรวจข้าวบรรจุถุงแทน) พบว่า กลุ่มสินค้าผักซึ่งมีการสุ่มเก็บตัวอย่างมาแล้ว 3 ครั้งในปี 2555, 2557 และ 2558 เมื่อนำข้อมูลภาพรวมทั้ง 3 ปีมาเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2559 โดยนำเฉพาะการวิเคราะห์สารตกค้างใน 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส อีพีเอ็น พบว่า ตัวอย่างผักที่พบสารพิษตกค้างสูงกว่าค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดหรือ MRL (Maximum Residue Limit) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลดลงเป็นลำดับ จากที่เคยพบสูงถึงร้อยละ 48.57 ในปี 2555 ลดลงเหลือร้อยละ 38.71 ในปี 2557 ร้อยละ 22.50 ในปี 2558 และลดลงเหลือร้อยละ 17.98 ในปี 2559มองในแง่นี้หมายความว่า การสุ่มตรวจสอบตัวอย่างและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะช่วยสร้างการตื่นตัวและผู้ประกอบการเพิ่มความละเอียดรอบคอบมากขึ้นในการลดการปนเปื้อน กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ผู้ประสานงานกินเปลี่ยนโลกและรองผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) เชื่อว่าวิธีการนี้ Thai-PAN มาถูกทาง“กลุ่มที่เราจับตาดูมีแนวโน้มดีขึ้น คือมีการตกค้างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานน้อยลง แสดงว่าเมื่อชี้ปัญหา ปัญหาก็ได้รับการแก้ไข มีการระวังตัวมากขึ้น ดีขึ้น แต่พอมาปีนี้เราขยายขอบเขตการตรวจ จากเดิมเราตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 90 กว่าชนิด ปีนี้ตรวจหาเพิ่ม 450 ชนิด ตัวเลขก็เลยขึ้นมา อันที่เราไม่เคยเจอก็เข้ามา ถ้าเราจับตาดูเพิ่มขึ้น ชี้เป้ามากขึ้น มันก็มีแนวโน้มว่าจะครอบคลุมตัวสารเคมีตกค้างมากชนิดขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าอาหารเราก็จะปลอดภัยมากขึ้น”การเพิ่มจำนวนสารเคมีที่ตรวจหาทำให้พบว่า ผักและผลไม้ที่ได้รับตราคิวพบสารเคมีตกค้างมากที่สุดจากทุกแหล่ง โดยพบสูงถึงร้อยละ 57.14ตีให้ตรงจุด    ภายหลังที่มีการเปิดเผยข้อมูลนี้ออกมาโดย Thai-PAN กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาโต้แย้งและพยายามอธิบายให้เห็นความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายคิว 2 ประเภท แต่นี่คงไม่ใช่จุดที่ต้องขยายความให้ยืดยาว เพราะอะไร? กิ่งกรชี้ประเด็นว่า เมื่อผู้บริโภคเห็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยโดยหน่วยงานภายใต้กรมวิชาการเกษตร ผู้บริโภคย่อมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าพืชผักผลไม้นั้นๆ ย่อมมีความปลอดภัย คงไม่ใช่หน้าที่ที่จำเป็นนักที่ผู้บริโภคจะต้องแยกแยะได้ว่าอะไรคือความต่างของเครื่องหมายคิวแต่ละชนิด    “ประเด็นหลักของเราไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเครื่องหมายอะไร หรือไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่การมีตราคิวติด ถามว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร กรมวิชาการเกษตรหรือสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติก็ต้องไปดูว่าใครเอาตราของตนเองไปใช้โดยไม่ถูกต้อง มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบไม่ให้ผู้บริโภคถูกหลอก ถ้าผู้บริโภคซื้อไปด้วยความเข้าใจว่าเป็นตราคิวจริง มีตัวเลขการรับรองเป็นปัจจุบัน ใช้ถูกต้อง แต่สินค้าผิดสเป็กก็เป็นหนึ่งประเด็น แต่ถ้าไม่ใช่ตราคิวจริงหรือปลอมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง หมายความว่าผู้ที่ไม่ได้รับตรานี้ไปใช้ เอาไปใช้โดยผิดกฎหมาย ทั้งสองประเด็นเป็นความรับผิดชอบของใคร ก็ของเจ้าของตรา เราคิดว่านี่คือการปล่อยปละละเลยที่ไม่ควบคุมกำกับดูแลให้เป็นที่น่าเชื่อถือเพียงพอ ทำเสมือนว่าคุณปล่อยให้ผู้บริโภคถูกผู้ประกอบการหลอก โดยเอาสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่อ้างมาขายในราคาที่สูงกว่าราคาที่ผู้บริโภคจะซื้อได้ตามท้องตลาด” กิ่งกร อธิบายอะไรคือจุดอ่อนของเครื่องหมายคิว?ผศ.พีรชัย กุลชัย อาจารย์ประจำภาควิชาพัฒนาการเกษตรและการจัดการทรัพยากร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และผู้ตรวจอิสระของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) อธิบายว่า ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากตัวเกษตรกรก่อน เพราะว่ากระบวนการตรวจสอบโดยทั่วๆ ไปก็เหมือนกับระบบคุณภาพแบบหนึ่ง เป็นการยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของตัวสินค้า ผู้ผลิตต้องมีความตระหนักเรื่องนี้ก่อน สองคือเรื่ององค์กรรับรอง ผู้ตรวจก็ทำหน้าที่ตรวจสอบไป หมายถึงผู้ตรวจตรารับรอง ในองค์กรรับรองก็จะมีตัวมาตรฐานว่าข้อหนึ่งสองสามต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องศึกษาก่อนว่าถ้ารับการรับรองจากมาตรฐานนี้ เราจะทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ เพราะมันมีหลายมาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรต้องมีการเตรียมตัว แล้วพอผู้ตรวจไปตรวจอย่างน้อยปีละครั้งก็จะเขียนรายงานขึ้นมา แล้วก็จะมีกรรมการอีกชุดหนึ่งเรียกว่าอนุกรรมการรับรอง อนุฯ นี้ก็จะดูจากเอกสารและพิจารณาว่าจะรับรองหรือไม่ นี่คือกระบวนการคร่าวๆ“แต่อันที่จริงถ้าผู้ผลิตซื่อสัตย์และทำตามมาตรฐาน มันก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร กระบวนการรับรอง เราไม่ได้รับรองตัวผลผลิต แต่เรารับรองกระบวนการผลิต หมายความว่าในกระบวนการผลิตมีการป้องกันการปนเปื้อนหรือสารเคมีในทุกขั้นตอน แต่โดยธรรมชาตก็มีสารเคมีล่องลอยอยู่แล้ว ปนเปื้อนได้บ้าง แต่ต้องไม่เกิดค่ามาตรฐาน”การตรวจสอบของ มกท. จะตรวจสอบความเป็นไปได้ของผลผลิตมีควรจะมีมากน้อยแค่ไหน เช่น เกษตรกรแจ้งมาว่าจะปลูกผักกวางตุ้ง 1 ไร่ ในรอบการผลิตนั้นในระบบอินทรีย์ปริมาณการผลิตไม่ควรจะเกินเท่าไหร่ ถ้าปริมาณสูงขึ้นมาอย่างผิดปกติก็ต้องชี้แจงว่าเพราะเหตุใด มีการสวมสิทธิ์หรือไม่ การรับรองของ มกท. เกษตรกรจะเป็นผู้ชำระเงินเพื่อรับการตรวจ หากผ่านก็จะได้รับการรับรองจาก มกท. ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการรับรองอีกทีจากสหพันธ์การเกษตรอินทรีย์ระหว่างประเทศ หรือไอโฟม (International Federation of Organic Agricultural Movement: IFOAM) หมายความว่าตัวเกษตรกรมีแรงจูงใจที่จะได้รับการตรวจสอบอยู่แล้ว ขณะที่ตัวองค์กรผู้ตรวจเองก็ต้องรักษามาตรฐานการตรวจสอบของตนเพื่อไม่ให้สูญเสียความน่าเชื่อถือแต่ในกรณีเครื่องหมายคิว ผศ.พีรชัยตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องหมายคิวเป็นของรัฐบาล ซึ่งมีการตรวจสอบคล้ายๆ กับ มกท. เพียงแต่มีข้าราชการเป็นผู้ตรวจสอบและมีรอบของการทำงาน แต่เพราะมีการให้การรับรองจำนวนมาก แบบปูพรม ตัวนโยบายก็ต้องการให้เกษตรกรได้เครื่องหมายคิว ทำให้การติดตามตรวจสอบหรือการตรวจซ้ำอาจมีปัญหา ผศ.พีรชัย ประเมินจากระบบว่า“ถ้าเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ พอได้คิวแล้วก็อาจจะไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ พอจังหวะราคาดีก็อาจจะเร่งโดยการใช้สารเคมีเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้ผลผลิตได้จำนวนหรือผักสวยตามที่ตลาดต้องการ ด้านหน่วยงานรัฐ งบประมาณที่ลงไม่มีความต่อเนื่อง เจ้าหน้าที่ก็ทำตามงบประมาณ แต่ระบบของเอกชน คุณต้องจ่ายเงิน เหมือนกับเราซื้อตรา ซื้อความมั่นใจ แต่เราไม่สามารถปั๊มตราเองได้ ต้องให้องค์กรตรวจสอบมารับรองเรา องค์กรตรวจสอบก็ต้องเอาจริงเอาจัง หลุดไม่ได้ เพราะเกษตรกรอุตส่าห์จ่ายตังค์ให้ได้ตรา ทำแบบนี้ ความเชื่อมั่นระยะยาวจะไม่เกิดแต่คิวเป็นของฟรี หน่วยราชการบริการ มีข้อจำกัดด้านกำลังคน งบประมาณ บางทีการตรวจสอบไปไม่ถึง ลงรายละเอียดไม่ถึง ก็อาจจะมีจุดบกพร่องหรือรั่วไหล แต่ราชการก็พยายามชูคิวขึ้นมาเพื่อให้ดูว่ามีมาตรฐาน มีการรับรอง แต่ว่าก็ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้น อันนี้ก็เป็นข้ออ่อนประการหนึ่ง”คราวนี้ลองมาฟังเสียงเกษตรกรบ้าง สุรศักดิ์ ใจโปร่ง เจ้าของสวนฟุ้งขจร-บึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ที่ทำเกษตรอินทรีย์มา 9 ปี เขาเป็นเกษตรกรคนหนึ่งที่ได้รับเครื่องหมายคิวรับรองเรื่องกระบวนการผลิตในด้านหนึ่ง สุรศักดิ์มองว่า สินค้าเกษตรปลอดภัยหรืออินทรีย์ ตลาดเป็นเรื่องสำคัญมาก ดังนั้น เครื่องหมายคิวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถก้าวไปได้ไกลกว่าเดิม จากพื้นฐานที่เริ่มจากตลาดสีเขียวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ทำให้สุรศักดิ์มีทัศนะว่า ตลาดสีเขียวเน้นเรื่องความไว้ใจระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ส่วนเครื่องหมายคิวเป็นปัจจัยในการก้าวสู่ตลาดที่กว้างขึ้น “คิวที่เราเห็นตามห้าง เหมือนเป็นกลลวงทางสังคมที่ว่าเป็นการแอบอ้าง คิวเป็นแค่ความปลอดภัย ไม่มีความเชื่อใจเป็นส่วนผสม ตรวจปีละครั้ง แต่เราจะเข้าสู่สังคม เราก็ต้องเอามาตรฐานคิวเป็นก้าวแรก ที่เราเห็นมีการปนเปื้อนเยอะ จุดหนึ่งเพราะเกษตรกรไม่มีพื้นที่ปลูกของเขาเอง ต้องไปรับซื้อจากเกษตรกรที่เขาเชื่อใจระดับหนึ่ง ถ้าคนเรามีความโลภ ขาดจิตสำนึก ก็จะมองแค่จะขายผลผลิตเยอะ ก็ขัดกับหลักการเกษตรอินทรีย์ของเรา ที่จะไม่เน้นผลผลิต แต่เน้นทำงานด้วยความสบายใจ ผักที่เราให้กับผู้บริโภคเราคิดว่ามันเป็นยา ไม่ทำให้เขาไม่สบาย ให้ผู้บริโภคได้ทานของที่ดีที่สุด”    ขณะที่ ผศ.พีรชัยและสุรศักดิ์จะให้มุมมองเรื่องความซื่อสัตย์ของตัวเกษตรกรว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย ด้านกิ่งกรกลับแสดงทัศนะอีกมุมหนึ่งเชิงระบบว่า การผลิตสินค้าเกษตรมีคนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่จำนวนมาก การรับรองก็มีรายละเอียดที่ยุ่งยาก เช่น เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐานในพื้นที่กี่แปลงและในพื้นที่แปลงนั้นผลิตอะไรบ้าง จะต้องมีการทำบัญชีตามระบบ ถ้าได้รับการรับรองคะน้า กะหล่ำ ไม่ได้หมายความว่าพืชชนิดอื่นจะได้รับการรับรองตามไปด้วย จึงต้องมีการทำงานร่วมกันทั้งตัวเกษตรกรและเจ้าหน้าที่กิ่งกร กล่าวว่า ตัวระบบฐานข้อมูลตรวจสอบรับรองค่อนข้างมีปัญหา ระบบมาตรฐานที่ดีตัวระบบฐานข้อมูลต้องเที่ยงตรง แม่นยำ ตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าเกษตรกรคนหนึ่งได้รับการรับรองเป็นเนื้อที่กี่ไร่ มีผลผลิตอะไรบ้างในปีนั้นๆ ระบบอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานจะมีการรับรองกันปีต่อปี มีการสุ่มตรวจสอบ ดังนั้น    “ถ้าระบบตรวจเช็คไม่ดี มันสอดไส้ได้ตลอดเวลา บอกเกษตรกรไม่ซื่อสัตย์ แน่นอน ถ้าไม่ซื่อสัตย์ก็ทำได้ตลอด ได้ทุกทาง เช่นเอามาสวม เพราะฉะนั้นต้องสร้างกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับและสร้างความน่าเชื่อถือตลอดทั้งระบบ ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ดีรองรับและมีการตรวจสอบตลอดเวลา มีการอัพเดทข้อมูลสม่ำเสมอ แล้วคนทำทำตามหน้าที่ มีหน้าที่ทำให้ถูกต้องก็ทำให้ถูกต้อง มีหน้าที่ตรวจสอบรับรองตามขั้นตอนอย่างไรก็ทำจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้เขาเซ็นชื่อ จะมาบอกว่าคนนั้นซื่อสัตย์ คนนี้ไม่ซื่อสัตย์ มันไม่ใช่ประเด็น”    กล่าวโดยสรุปคือจะต้องมีระบบที่ดี ที่มีประสิทธิภาพกว่านี้    แต่นี่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างที่รากเหง้าอย่างแท้จริง หากภาครัฐยังปล่อยปละละเลยการจำกัดการนำเข้าสารเคมีจนท่วมประเทศเช่นเวลานี้--------------------------------------------------------------------------------------------------------เครื่องหมาย Q คืออะร? คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 29  กรกฎาคม 2546 ให้หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นเครื่องหมายเดียวกัน คือเครื่องหมาย Q เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้เครื่องหมายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเพื่อใช้แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรและอาหารมีคุณภาพและความ ปลอดภัย พร้อมทั้งสื่อถึงผู้บริโภคภายในประเทศและประเทศคู่ค้าให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เป็นที่มาของพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของลักษณะของเครื่องหมาย การได้มาก การใช้เครื่องหมาย และการแสดงเครื่องหมาย Q มีรายละเอียดปลีกย่อยอยู่มากและซับซ้อน ในที่นี้จึงขออธิบายเฉพาะเครื่องหมายรับรอง Q กับสินค้าเกษตรและอาหารโดยย่นย่อเครื่องหมายรับรอง Q หมายถึง เครื่องหมายรับรองที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศใช้เพื่อแสดงถึงการให้การรับรองสินค้าเกษตรและอาหาร ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่ประกาศโดยหรือได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และด้านคุณภาพที่จำเป็น  (Essential Quality) โดยผู้ที่ต้องการใช้เครื่องหมาย Q จะต้องยื่นคำขอกับหน่วยรับรอง ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่หน่วยรับรองกำหนด เมื่อผ่านเกณฑ์แล้วจึงสามารถติดเครื่องหมาย Q บนสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของสินค้านั้น โดยผู้ได้รับการรับรองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการรับรองผลิตภัณฑ์และการแสดงเครื่องหมายรับรองที่หน่วยรับรองกำหนด    หลักเกณฑ์ดังกล่าว เช่น การผลิตในระดับฟาร์มของสินค้าเกษตรต้องสอดคล้องกับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP) และได้รับการตรวจสอบรับรองโดยหน่วยรับรองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้อง, ผู้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายต้องมีระบบการเรียกคืนหรือติดตามสินค้าได้ กรณีที่พบว่ามีปัญหา และสินค้าต้องถูกตรวจสอบคุณภาพที่จำเป็นและตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน หรือสิ่งอันตรายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับมาตรฐาน ตามแผนการตรวจที่หน่วยรับรองกำหนด เป็นต้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ www.acfs.go.th/qmark

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 183 สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 “ร่วมผลักดันระบบการคุ้มครองผู้สูงวัย”

ทุกวันที่ 30 เมษายนของทุกปี ถือเป็นวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชนจากทั่วประเทศ จะร่วมกันจัดงานสมัชชาผู้บริโภคไทย เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และเรื่องที่ยังอยู่ในกระแสการรณรงค์ของภาคประชาชนในประเทศต่างๆ สำหรับงานสมัชชาผู้บริโภคไทยประจำปี 2559 ครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ สสส. จัดงานขึ้นเมื่อวันที่ 29 – 30 เมษายนที่ผ่านมา ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนด้าแกรนด์ นนทบุรี โดยมีประเด็นหลักคือ ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย และปัญหารถโดยสารสาธารณะกรณีรถสองชั้นฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอพาผู้อ่านไปเยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานทั้งสองวันสมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 29 เมษายน 2559ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย เหตุผลที่ระบบคุ้มครองผู้บริโภคกับสังคมผู้สูงวัย กลายเป็นธีมหลักของงานมาจากการที่ประเทศเรา ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมของผู้สูงอายุ(ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้ว โดยจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด หรือราว 10 ล้านคน และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า (เมื่อสัดส่วนดังกล่าวเพิ่มเป็นร้อยละ 20) แต่เราจะพบว่าปัญหาของผู้สูงวัยในฐานะผู้บริโภคนั้น ยังคงมีอยู่และเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นที่เราต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมปาฐกถาพิเศษจาก นพ. วิชัย โชควิวัฒน กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงแนวทางในการสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมสูงวัยว่า “แม้ผู้สูงอายุจะผ่านโลกมามาก แต่เมื่อสูงวัยก็จะมีความเปราะบางตามธรรมชาติ เช่น เมื่อเกษียณจากการทำงาน โอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็จะลดลง จึงมีโอกาสมากที่จะถูกชักจูงจากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ หรือในกรณีที่ต้องการสินค้าและบริการมาช่วยสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ก็อาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ได้ง่าย ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการดูแลที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุถูกเอารัดเอาเปรียบหรือตกเป็นเหยื่อจนกลายเป็นปัญหาสังคม ทั้งนี้หากเราพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง การเข้าถึงและความพึงพอใจต่อบริการตามสิทธิผู้สูงอายุ เมื่อปี 2558 จะพบว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ร้อยละ 85 ยังสามารถทำกิจวัตรประจำวันของตนเองได้ทั้งหมด ที่เหลือร้อยละ 13 ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน และมีเพียงร้อยละ 2 ที่ช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย ดังนั้นประเทศไทยควรมีวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สูงวัยในกลุ่มใหญ่ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ยาวนานที่สุด ส่วนกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้บางส่วน ควรสนับสนุนให้ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นเรื่อยๆ และช่วยฟื้นฟูผู้สูงวัยที่เหลืออีกร้อยละ 2 ให้ช่วยเหลือตัวเองได้บ้างโดยเราสามารถสร้างผู้สูงวัยให้เป็นพลังสังคมได้ ด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของผู้สูงวัยอย่างครบวงจร ซึ่งมีหลักการสำคัญคือ 1. ต้องพัฒนาให้ผู้สูงวัยมีความเข้มแข็ง โดยพัฒนาผู้สูงวัยในฐานะปัจเจกบุคคล โดยต้องทำให้อยู่ในภาวะพึ่งพิงน้อยที่สุด ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการส่งเสริมผู้สูงวัยทำงาน ทั้งงานอาชีพและงานสังคม เพราะจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกได้ว่า ตนเองมีคุณค่า นอกจากนี้จะทำให้ได้รับข้อมูลข่าวสาร และสามารถพึ่งพาซึ่งกันและกันได้ด้วย 2. ต่อมาต้องพัฒนาองค์กรต่างๆ ทั้งของผู้สูงวัยเอง และองค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงวัย 3. รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายของบุคคลและองค์กรผู้สูงวัย และ 4. พัฒนาสภาพแวดล้อม ทั้งกฎหมาย สิ่งแวดล้อม สื่อ ระบบงาน กลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการสร้างความเข้มแข็งของผู้สูงวัย” นอกจากนี้ นพ. วิชัย ยังได้เปรียบเปรียบสังคมผู้สูงวัยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ไว้ว่า บ้านเขารวยก่อนแล้วจึงแก่ แต่บ้านเราแก่ก่อนแล้วจึงรวย เพราะติดกับดักรายได้ปานกลาง และแม้รัฐบาลจะช่วยจ่ายเงินค่ายังชีพให้กับผู้สูงอายุเดือนละ 600 ถึง 1,000 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ในประจำวันได้ ดังนั้นสังคมไทยจึงควรเร่งพัฒนาการคุ้มครองผู้สูงวัยให้เป็นระบบ เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ต่อจากปาฐกถา คือการเสวนาถึงทุกข์ของผู้สูงวัย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคสูงวัย ที่มีสาเหตุมาจากสินค้าหรือบริการ ตลอดจนปัญหาความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ มีตัวแทนจากหลายฝ่ายเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นดังกล่าว นายเชษฐา แสนสุข ตัวแทนเครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่า “ทุกข์ของผู้สูงอายุในเมืองส่วนใหญ่คือปัญหาเรื่องสุขภาพ และเรื่องค่าใช้จ่าย การหวังพึ่งลูกหลานอย่างเดียวไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้รัฐจัดบำนาญแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันในชีวิตให้กับทุกคน หรือนางทองม้วน นกแก้ว ตัวแทนผู้สูงอายุจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีประสบการณ์เป็นเหยื่อโฆษณายามาหลายครั้ง โดยสั่งซื้อยาตามโฆษณาทางวิทยุ เพราะอยากหายจากอาการป่วยที่เป็นอยู่และหลงเชื่อดาราดังทั้งหลายที่มาโฆษณา ซึ่งมาพบภายหลังว่ายาต่างๆ เหล่านั้นไม่มีความปลอดภัย”ก่อนจบการเสวนาจึงได้มีการร่วมกันสรุปข้อเสนอสำหรับ แนวทางการแก้ปัญหาทุกข์ของผู้บริโภคสูงวัยให้มีความยั่งยืน 6 ข้อ ดังนี้ 1. รัฐควรพิจารณาให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันในช่วงสุดท้ายของชีวิต 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผ่านสื่อวิทยุ-โทรทัศน์ ควรควบคุมการโฆษณายาอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อจนตกเป็นเหยื่อโฆษณายาเกินจริง โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้ป่วย และคนต่างจังหวัด 3. รัฐบาลควรให้การดูแลผู้สูงอายุมากกว่านี้ โดยเฉพาะการออกกฎหมายดูแลผู้สูงอายุ เพราะส่วนใหญ่ มีความกังวลว่าบั้นปลายจะลำบาก โดยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ควรต่ำกว่า 2,600 บาทต่อเดือน เพื่อให้ผู้สูงอายุพออยู่ได้ 4. รัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายที่รัฐคิด เข้าไปมีส่วนร่วมและนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายนั้นๆ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ผู้คิดนโยบายไม่ได้เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง มักทำตามกระแสการเรียกร้อง แต่ไม่ได้คิดทั้งระบบ เช่น ปัญหาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ รัฐควรกำหนดนโยบายและแนวทาง ที่สามารถสร้างหลักประกันรายได้พื้นฐานให้กับผู้สูงอายุได้ เพราะหากมีหลักประกันรายได้เพียงพอต่อการยังชีพในระดับหนึ่ง คนกลุ่มนี้ก็จะไม่เป็นภาระอีกต่อไป 5. ผู้มีอำนาจในสังคม ควรมองว่า ผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ แต่เป็นคลังสมองของสังคม สามารถสร้างคุณูปการต่อประเทศได้ และสุดท้าย 6. ประกันสังคม ควรปรับเปลี่ยนอัตราการจ่ายบำนาญที่ปัจจุบันกำหนดตายตัวไว้ไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นแต่ละปีทั้งนี้ภายหลังกิจกรรมในห้องประชุมใหญ่เสร็จสิ้น ก็มีการแบ่งการเสวนาเป็นห้องย่อยทั้งหมด 3 ห้องในประเด็นคือ 1. ประกันภัยผู้สูงวัย 2. ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา และ 3. ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ซึ่งแต่ละห้องนั้นก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจที่ต่างกัน ดังนี้สรุปประเด็นห้องย่อยที่หนึ่ง เรื่องประกันภัยผู้สูงวัย ประเด็นหลักของการเสวนาคือ ปัญหาของประกันภัยชนิดนี้ ที่มักนำดาราหรือพิธีกรสูงวัยมาดึงดูดใจลูกค้าด้วยการใช้คำโฆษณาว่า “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ ไม่ต้องตอบคำถามใดๆ” ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่หลงเชื่อทำประกัน เพราะถูกโฆษณาเกินจริงและขาดข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง เพราะโฆษณาดังกล่าวไม่ได้บอกรายละเอียดทั้งหมดว่า กรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ให้ผลคุ้มครองอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาเมื่อ ผู้ทำประกันภัยเกิดเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต  แนวทางแก้ไขปัญหานี้จึงเป็นหน้าที่หลักของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งนางสาวราตรี เนตรพระฤทธิ์  ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและพัฒนาการคุ้มครองสิทธิ คปภ. กล่าวว่า ทาง คปภ. ได้ออกกฎเกณฑ์และระเบียบเรื่องการโฆษณาหรือเสนอขายว่า ต้องมีถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้ประชาชนไม่สับสน และจะต้องบอกให้ชัดเจนว่า ถ้าหากเจ็บป่วยตายภายใน 2 ปี จะมีสิทธิ์ได้รับเฉพาะเบี้ยประกันภัยคืนบวกกับเงินเพิ่มเท่านั้นอย่างไรก็ตามหากผู้สูงวัยต้องการซื้อประกัน ควรศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แห่งก่อนตัดสินใจ เช่น www.oic.or.th ที่รวบรวมข้อมูลเรื่องบริษัทประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยแต่ละชนิดแต่ละประเภทพร้อมทั้งคำอธิบาย มีข้อมูลสถิติเรื่องการร้องเรียน ข้อมูลสถิติเรื่องการลงโทษบริษัทประกันภัย และหากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก็สามารถโทรศัพท์ไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 ซึ่งจะแนะนำได้ว่าควรเข้าไปคลิกตรงไหนในเว็บไซต์ นอกจากนี้ควรเก็บหลักฐานการโฆษณาต่างๆ ไว้ด้วย เช่น ใบปลิวโฆษณา เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่นกัน และเมื่อได้กรมธรรม์มาแล้ว ควรอ่านหรือศึกษาคู่มือ เพื่อให้ทราบว่าสิทธิประโยชน์ในข้อสัญญาเป็นอย่างไร นอกจากนี้นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ยังได้ฝากข้อเสนอเพิ่มเติมอีก 5 ข้อดังนี้ 1.ในกรณีประกันแบบสูงวัย มีเงื่อนไขการจ่ายเบี้ยประกันก็คือต้องตายหลังเวลา 2 ปีจึงจะได้ทุนประกัน มีความเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวเกินไป จึงขอให้พิจารณาทบทวนเรื่องนี้ใหม่ 2.ขอให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องการโฆษณาซึ่งปัจจุบันสามารถตรวจสอบได้ และขอให้ประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าบริษัทไหนได้ดำเนินการทางกฎหมายไปแล้ว เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนโฆษณา 3.เพิ่มบทกำหนดโทษของตัวแทนในกรณีที่ขายประกันแบบผิดจรรยาบรรณ ไม่ใช่แค่เพิกถอนใบอนุญาต 4.ขอให้มีมาตรการบังคับให้บริษัทประกันภัยมีระบบ Call Center ที่ลูกค้าติดต่อง่าย เพราะขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เสนอขายประกันทางโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการติดต่อกลับเพื่อขอยกเลิกสัญญา ติดต่อไม่ได้ หรือติดต่อยากมาก และ 5.การยกเลิกประกันขอให้ทำได้ในกรณีเดียวคือ ขอให้ยกเลิกภายใน 30 วันไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดว่า ถ้าผ่านตัวแทนต้องดำเนินการภายใน 15 วัน ขอให้มีการปรับให้เท่ากัน เพราะอย่างน้อยจะได้มีเวลาศึกษา สรุปประเด็นห้องย่อยที่สอง ผู้สูงอายุกับการบริโภคยา อาหารและเครื่องมือแพทย์ที่เป็นปัญหา พบว่าปัญหาหลักคือ การหลงเชื่อในสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยาแผนโบราณต่างๆ โดยจะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุนิยมใช้ประจำ เช่น น้ำมันปลา สาหร่ายสไปรูไลน่า แคลเซียม โปรตีนผง จมูกข้าว ซึ่งมักได้รับการชักชวนให้ซื้อจากผู้ใกล้ชิด  หรือจากผู้ประกอบวิชาชีพ แต่เราจะพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ปลอดภัยและมีประโยชน์เสมอไป เช่น ผลิตภัณฑ์บางชนิดโฆษณาว่ามาจากปลาน้ำลึก ซึ่งถ้าไปคนเป็นหอบหืดกินเข้าไปก็จะอันตาย หรือแม้แต่คลอโรฟิลล์ก็พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ใส่สารบางอย่างเข้าไป จนทำให้คนที่กินแล้วก็ใจสั่น หรือการกินยาแผนโบราณบางชนิด ก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ยา ตัวบวมจากสเตียรอยด์ที่ใส่ลงไป หรือมีจ้ำเลือดออกใต้ผิวหนังได้ ดังนั้นจึงต้องมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน เช่น ให้ผู้สูงอายุควรมีผู้ดูแลหรือสร้างความรู้เชิงวิชาการ ที่ทำให้เข้าใจเรื่องข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความปลอดภัย แต่ต้องมีประโยชน์ด้วย รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคา นอกจากนี้สภาวิชาชีพต้องควบคุมให้คนของตัวเองดูแลและทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคด้วย เพราะทุกวันนี้คนในวิชาชีพกลุ่มหนึ่งเป็นคนขายผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและทำให้ของขายดีขึ้น และควรปรับปรุงฉลากโภชนาการ ให้อ่านเข้าใจง่าย ส่วนกรณีที่เครื่องมือแพทย์มีปัญหา มีสาเหตุจากการนำไปสาธิต โฆษณา โอ้อวด เกินความจริง เช่น ใช้รักษาโรคโน้นโรคนี้ได้ ทั้งที่ไม่ได้งานวิจัยมาสนับสนุน แต่ใช้เทคนิคคือให้ไปใช้ฟรี มีการเล่นเกม แจกรางวัล ของขวัญ โปรโมชั่นเยอะแยะ ซึ่งผู้บริโภคไม่ควรหลงเชื่อ เพราะไม่มีผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวไหนที่สามารถรักษาได้ครอบจักรวาล สรุปประเด็นห้องย่อยที่สาม ความเป็นไปได้ทางการเงินการคลังในการมีบำนาญพื้นฐานทั่วหน้าของประชาชน ห้องนี้มีคนเข้าร่วมหนาแน่นมากที่สุด เพราะผู้สูงวัยส่วนใหญ่ต่างก็มีความทุกข์ในเรื่องของรายได้ หรือมีรายได้ต่ำทำให้ไม่สามารถเก็บออมได้มากพอเมื่อสูงวัย และต่างต้องการให้รัฐจัดสวัสดิการบำนาญให้ผู้สูงวัยทุกคน ซึ่งควรอยู่ในอัตราใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ตามที่สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุไว้ในปี 2557 คือ 2,600 บาทต่อเดือน แต่ประเด็นคือรัฐจะสามารถจัดสรรงบให้ผู้สูงอายุได้เพียงพอหรือไม่อย่างไรก็ตามในการเสวนาครั้งนี้ ก็มีการร่วมกันเสนอแนวทางการแก้ปัญหา หรือความเป็นไปได้ในการมีบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าของประชาชนคือ 1.รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มที่เป็นแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมออมเพื่อการเกษียณ หรือผลักดันโครงการให้ความรู้ทางการเงิน และปรับนโยบายการลงทุนของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อเพิ่มผลตอบแทน 2.เตรียมความพร้อมสำหรับรับคนสูงวัยซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น การสนับสนุนการลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชน ลดแรงกดดันที่รัฐต้องใช้พลังในการลงทุนด้านต่างๆ ให้เอกชนมาร่วมด้วย ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ หาแหล่งเงินอื่นที่นอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้จากงานวิจัยของนักวิชาการในและต่างประเทศก็ได้ยืนยันว่า ประเทศไทยมีงบเพียงพอในการจัดสรรสวัสดิการบำนาญดังกล่าว เพียงแต่ต้องบริหารงบให้กระจายอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ และปฏิรูประบบภาษี รวมทั้งการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม กำไรในตลาดหุ้น และควรปรับขึ้นภาษีอย่างเป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทุกคนต่างก็หวังว่าข้อเสนอต่างๆ จะเป็นจริง เพราะบำนาญชราภาพถือว่าเป็นสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐควรจัดสรรให้ประชาชนในประเทศ    เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับเนื้อหากิจกรรมของวันแรก เรียกได้ว่าเสวนากันในประเด็นที่เกี่ยวกับกับผู้สูงอายุในทุกแง่มุมที่เป็นปัญหากันเลยทีเดียว สมัชชาผู้บริโภคไทยปี 2559 วันที่ 30 เมษายน 2559การเสวนาปัญหารถโดยสารสองชั้นจากข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ที่ได้นำเสนอข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ เมื่อปี 2558 พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสองชั้น สูงกว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุของรถบัสชั้นเดียวถึง 6 เท่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรณรงค์ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคัน ต้องผ่านทดสอบการลาดเอียง ทั้งนี้หากวิเคราะห์สาเหตุหลักของอุบัติเหตุดังกล่าว พบว่าไม่ได้มาจากผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียว แต่รถมีปัญหาเรื่องโครงสร้าง และการออกแบบที่ไม่เหมาะสมกับเส้นทางและถนนในประเทศ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารหลายประการ ดังนี้ 1.ตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถชั้นเดียว เนื่องจากมิติรถสองชั้นที่สูง 4.20 ม. ยาวกว่า 12.00 ม. หนักกว่า 18  ตัน ยังไม่รวมน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน เพราะฉะนั้นด้วยรถที่มีความสูงขนาดนี้ เมื่อวิ่งด้วยความเร็วบนถนนจึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้โดยเฉพาะทางโค้ง ทางลาด 2.ปัญหาโครงสร้างความแข็งแรง ที่ส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซม และดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้ว่ารถคันไหนต่อเติมดัดแปลงมาอย่างไร  และ 3. ปัญหาระบบเบรก ที่มักจะขัดข้องหรือหยุดทำงานขณะวิ่งลงเนินเขาระยะทางยาว การคุมเข้มความแข็งแรงของโครงสร้างรถ และโครงสร้างเบาะผู้โดยสาร ที่ยังขาดความแข็งแรงและไม่มีจุดยึดเกาะกับรถตามมาตรฐานสากล ซึ่งยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับและบทลงโทษชัดเจน  อย่างไรก็ตามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็ได้จัดทำข้อเสนอระยะสั้น เพื่อเป็นมาตรการเร่งด่วนแก่กรมการขนส่งทางบกเพื่อพิจารณา 4 ข้อ ดังนี้ 1.ขอให้กรมฯ ออกประกาศใหม่ให้รถโดยสารสองชั้นทุกคันต้องเข้ารับการทดสอบการลาดเอียง 2.ขอให้รถโดยสารสองชั้นที่ผ่านการทดสอบการลาดเอียงต้องแสดงสัญลักษณ์หรือติดสติ๊กเกอร์ว่าผ่านการทดสอบอย่างชัดเจนบริเวณด้านหน้าและด้านข้างรถเพื่อเป็นตัวเลือกในการใช้บริการให้กับผู้บริโภค 3. ขอให้กรมกำหนดเส้นทางเสี่ยงสำหรับรถโดยสารสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน และจำนวนอุบัติเหตุของรถขนาดใหญ่ ต้องห้ามใช้เส้นทางโดยเด็ดขาดพร้อมกำหนดโทษหากฝ่าฝืน 4. ขอให้กรมพัฒนาระบบ GPS ในรูปแบบเชิงป้องกันอุบัติเหตุแบบ Real time ที่สามารถแจ้งเตือนและสกัดจับได้ทันที โดยเชื่อมโยงหรือส่งต่อกับระบบฐานข้อมูลหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ เช่น ตำรวจทางหลวง สำนักงานขนส่งแต่ละจังหวัด เป็นต้นซึ่งข้อเสนอทั้ง 4 จะได้มีการติดตามเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ----------------------------------------------------------------------------------------------------รางวัลยกย่องสื่อมวลชลที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างความรู้และนำเสนอข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สื่อมวลชนทำข่าว สารคดีเชิงข่าวการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีคุณภาพและมีคุณค่าต่อการสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น รวมทั้งเพื่อส่งเสริมกำลังใจให้สื่อมวลชนไทย โดยแบ่งออกเป็นประเภทสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ดังนี้ ประเภทสื่อโทรทัศน์ ประกอบด้วยรางวัลข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ข่าวลิฟท์บีทีเอส โดย นายอาธิต พันธุ์ปิยะศิริ จากสำนักข่าวไทย อสมท. และสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม  ได้แก่ ผลงานเรื่องศัลยกรรมปรับโครงสร้างจมูก สวยหรือเสี่ยง โดย นางสาวศิริพร กิจประกอบ ผู้สื่อข่าวกองข่าวเฉพาะกิจ ช่อง 9 MCOT HDประเภทสื่อออนไลน์ ประกอบด้วยรางวัลสารคดีเชิงข่าวยอดเยี่ยม ได้แก่ ผลงานเรื่องร้าวทรุดบ้านหรูรัชวิภา โดย นางสาวธิดารัตน์ เมืองจันทร์ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ และรางวัลชมเชยสารคดีเชิงข่าวเรื่อง มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน – ไร้ความคืบหน้า โดย นายณัฐพร วีระนันท์ สำนักข่าวอิศรา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 ผู้บริโภคกับความตกลง TPP 3 ผลกระทบที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจไทยและการติดหล่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องหันมาผลักดันการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวจักรสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำเฉยกับรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่มีไทยอยู่บนขบวนรถ ฟากฝั่งภาคธุรกิจเอกชนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม ส่วนฟากรัฐบาลนั้น แม้จะมีความสนใจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงมีบางส่วนที่อาจสร้างความเสียหายในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น บนจุดยืนของผู้บริโภค ทีพีพีเหมือนจะเป็นประเด็นระดับรัฐ ระดับโลกที่ห่างไกล ทว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แรงกระแทกจากทีพีพีอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและอาหารซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทั้งยังรวมถึงการแทรกแซงอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขบวนนี้อาจจะนำมาซึ่งหายนะอีกมหาศาลเท่าใดยังคาดการณ์ไม่ได้   ยา : ผูกขาดไม่สิ้นสุด ยาน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าประเด็นหลักๆ ที่อยู่ในทีพีพีประกอบด้วยการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ที่รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะต้องยินยอมให้ยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในไทยผูกขาดข้อมูลความลับทางการค้า 5 ปี หรือ 8 ปี นี่ย่อมเท่ากับการกีดกันบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาและเข้าสู่ตลาดได้หรือเข้าสู่ตลาดช้าลง ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อบ่งใช้ ในทีพีพีอนุญาตให้สามารถจดสิทธิบัตรการใช้ใหม่ของสารเก่าได้ หมายถึงยาตัวเก่าที่มีอยู่เดิม เช่น แอสไพรินที่ต่อมารู้ว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ จะทำให้เม็ดเลือดจางลง จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เมื่อพบข้อบ่งใช้ใหม่ ทีพีพีระบุว่าต้องยินยอมให้จดสิทธิบัตร กับอีกประเด็นที่มาคู่กันคือวิธีการใหม่ของการใช้สารเก่า ยกตัวอย่างเช่นเพราะเด็กรับประทานยายาก จึงดัดแปลงยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ใช้ทานเป็นแปะหน้าผากหรือแปะที่ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนัง ลักษณะนี้ก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่เลย นี่ย่อมเท่ากับเป็นการยืดอายุการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรออกไปไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า Evergreening Patent ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยืดอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีหรือการที่ระบุให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจแทนเจ้าของสิทธิ์ นั่นคือถ้ามียาชื่อสามัญเดียวกันจะมาขึ้นทะเบียน อย. ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิ์รู้โดยละเอียด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ อย. โดยไม่จำเป็น “ผลการศึกษาพบว่า ถ้าให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่ถ้าเรายืดอายุสิทธิบัตรไป 5 ปี ในปีที่ 5 เราจะเสียไป 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ทำไมการขยายอายุจึงมีมูลค่าน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูลยา เพราะการผูกขาดข้อมูลยา ถ้าเกิดขึ้น มันจะเกิดวันนี้เลย แต่การยืดอายุสิทธิบัตรนั้น พอยาจะหมดมันก็ยืดไป มันจึงใช้เวลา แต่พอสุดท้ายปลายทาง การผูกขาดข้อมูลยาในปีที่ 30 ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรจะเป็น 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เนื่องจากพอขยายอายุไปเรื่อยๆ ทุกยาก็ขยายอายุหมด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะสูงขึ้น เพราะยาไม่หมดอายุสักที” เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในที่สุด   จีเอ็มโอ: โจรสลัดชีวภาพจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตา ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่ก็ถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องล้มเลิกไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมาสอดรับกับความต้องการในทีพีพี หากไทยเข้าร่วมทีพีพี เราจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมยูปอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถผูดขาดพันธุ์พืชทุกชนิดเป็นเวลา 20 ปี และไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบายว่า “สมมติว่าถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทแห่งหนึ่งมาปรับปรุงพันธุ์ต่อ ทางบริษัทก็จะอธิบายว่ามันเป็นอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ของเขา และการคุ้มครองพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น ถ้าคุณเอาเมล็ดไปปลูกแล้วให้ผลผลิตขึ้นมาก็ถือว่าละเมิด เขาสามารถตามไปยึดผลผลิตได้ อันนี้เองที่คนบอกว่ายูปอฟ 91 ก็คือกฎหมายสิทธิบัตรที่ขยายมาสู่พืช ซึ่งจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นสองถึงหกเท่าตัว” ประเด็นที่ 2 คือการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยในรายละเอียดของตัวบทยังเรียกร้องให้ขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในดีเอ็นเอหรือหน่วยพันธุกรรม ประเด็นที่ 3 คือการเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ให้เป็นไปโดยง่าย ซึ่งคำว่าจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ยังสามารถขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรดีเอ็นเอ หมายความว่ากินความรวมไปถึงหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิฑูรย์ กล่าวว่า “ถ้าสรุปก็คือมันทำลายกลไกการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นของประเทศอย่างร้ายแรง และเอื้ออำนวยให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ปัจจุบัน โลกนี้มีกติการะหว่างประเทศอันหนึ่งชื่อว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศทั่วโลกทุกประเทศเป็นสมาชิก ยกเว้นประเทศเดียวคืออเมริกา อนุสัญญานี้บอกว่าใครก็ตามที่เอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ไปใช้ประโยชน์ เอาไปปรับปรุงพันธุ์ คุณต้องขออนุญาตเจ้าของทรัพยากร ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ไปใช้ฟรีไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยเขียนรองรับไว้หมดแล้ว แต่ภายใต้ทีพีพีบอกว่าถ้าคุณเข้ายูปอฟ 91 คุณต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งพูดถึงหลักการแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้” เพิ่มตัวเลขผลกระทบ   การคุ้มครองการลงทุน: อำนาจรัฐที่สาบสูญประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลตัวที่สุด แต่ผลกระทบอาจครอบคลุมวงกว้างมากกว่า เพราะอะไร? กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี ไทยจะต้องดูแลนักลงทุนต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จุดเป็นจุดตายของเรื่องนี้คือ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากพวกเขาเห็นว่าการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการออกกฎหมายของรัฐกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ เช่น กรณีออสเตรเลียที่ออกนโยบายบังคับให้ซองบุหรี่จะต้องไม่มีตราสินค้าและออกแบบให้ไม่ดึงดูด เพื่อต้องการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในประเทศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกฟ้องร้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้หลักการคุ้มครองการลงทุน โดยการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่เป็นการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเลือก ผลชี้ขาดออกมาเช่นไร คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามนั้นและไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ สิ่งนี้ย่อมเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่จะดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ เพราะหากนโยบายดังกล่าวถูกนักลงทุนมองว่าจะก่อผลกระทบ การฟ้องร้องผ่านกลไกไอเอสดีเอสย่อมส่งผลให้นโยบายนั้นชะงักงัน หรือทำให้รัฐบาลต้องคอยเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่าบทการลงทุนดูแลนักลงทุนดีกว่าคนในชาติ ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในเมื่อบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทำไมจึงดูแลนักลงทุนดีกว่า ในทีพีพีครั้งนี้เลยเขียนชัดๆ เลยว่าการดูแลนักลงทุนต่างชาติดีกว่าคนในชาติ ไม่ถือว่าขัดกับหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แปลว่าต่อจากนี้คุณไม่ต้องดูแลคนในชาติก็ได้ ถ้าคุณบอกว่าเดิมต้องเอาร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อแต่นี้ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ได้ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ “ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน ที่เราห่วงมากอย่างป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ประปา ไฟฟ้า ก๊าซ พวกนี้จะมีข้อกำหนดแบบหนึ่งเลยที่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีในฉบับอื่นๆ แต่เคยได้ยินว่ามีวิธีการเขียนแบบนี้อยู่ มันเรียกว่า Umbrella Cause หมายถึงเขียนเป็นร่ม คือถ้าต่อจากนี้ทำสัมปทานกับรัฐ แล้วเขียนกติกาต่างๆ ไว้น้อยกว่าในทีพีพี ให้ถือว่าสัมปทานนั้นถือกติกาเท่ากับทีพีพีโดยอัตโนมัติทันที และสามารถฟ้องรัฐผ่านกลไกไอเอสดีเอสได้เช่นกัน” .......... ขณะที่สหรัฐฯ ผ่านบทบาทของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนก็โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมทีพีพี ล่าสุด ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งเทียบเชิญชวน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขอศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ความพยายามปรับแก้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายจีเอ็มโอ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับมีทิศทางสอดคล้องกับทีพีพีโดยบังเอิญเป็นความบังเอิญจริงๆ หรือไม่ ผู้บริโภคต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป ----------------------------------------------------------------ความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจอเมริกันฯทีพีพีมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ประเด็นนี้ค่อยๆ เพิ่มกระแสขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2558 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหมายถึงไทยยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายาม จุดสังเกตที่ทำให้รายงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงคือ กฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นเพียง 10 วัน สภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมผู้แทนจาก 29 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น ได้เข้าพบอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม ต่อด้วยการเข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย วันที่ 7 สิงหาคม USABC เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาการพูดคุยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง และ ‘ทีพีพี’ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในประเด็นทีพีพีต่อประเทศไทย น่าจะมีการวางจังหวะก้าวเอาไว้แล้ว ทุกอย่างจึงสอดรับกันเช่นนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)