ฉบับที่ 156 กระแสต่างแดน

พลาดจนได้ ห้างอิเกียสาขาซามาร่า ในรัสเซียกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากเปิดดำเนินการเมื่อสามปีก่อน ซึ่งกว่าจะเปิดได้ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานาจนเปิดห้างได้ล่าช้ากว่าแผนไปถึง 4 ปี เหตุที่แผนต้องสะดุดไปถึง 8 ครั้งนั้น รวมถึงการที่ห้างยังสร้างอาคารไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของรัสเซีย ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องแข็งแรงขนาดต้านทานพายุเฮอริเคนได้ด้วย ที่สำคัญ บริษัทไม่มีนโยบายจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ และถึงขั้นเคยไล่เจ้าหน้าที่ระดับบริหารออกไปสองราย เพราะจับได้ว่าติดสินบนเจ้าหน้าที่รัสเซียด้วย แต่ที่เปิดได้ในที่สุดเพราะบริษัทใช้ไม้ตายด้วยการยื่นคำขาดว่าถ้าเปิดสาขาซามาร่าไม่ได้ ก็จะระงับแผนการลงทุนทั้งหมดในรัสเซีย (ปัจจุบันธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสัญชาติสวีดิช มีสาขาในรัสเซียถึง 14 แห่ง จากทั้งหมด 338 สาขาทั่วโลก)   ปีนี้ อิเกีย ซามาร่า เป็นข่าวอีกครั้งเพราะโดนข้อหาขายต้นไม้ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบโดยด่านกักกันพืชของเมือง และถูกปรับเป็นเงิน 1,900 เหรียญ ซึ่งต้นไม้จำนวน 20,000 ต้นที่สต็อคไว้ขายนี้ก็ถูกส่งมาจากสาขาในเมืองมอสโควและเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กนั่นเอง ยิ้มสองมาตรฐาน เดนมาร์กใช้ระบบแสดงผลการตรวจสอบสุขอนามัยของร้านขายอาหาร ด้วยสไมลี่ย์ หรือ “หน้ายิ้ม” ที่เรารู้จักกัน โดยแสดงเป็น 4 หน้า ตั้งแต่ หน้าเบะ (โดนปรับ โดนแจ้งข้อหา หรือถูกถอนใบอนุญาต) หน้าบึ้ง (ถูกห้ามขายชั่วคราว) หน้าอมยิ้ม (เกือบดีแล้ว ปรับปรุงเพียงเล็กน้อย) ไปจนถึงหน้ายิ้มแฉ่ง (ผ่านฉลุย ไม่มีข้อติ) รายงานหน้ายิ้มซึ่งเป็นผลจากการเข้าตรวจโดยไม่แจ้งล่วงหน้า(ปีละ 1 ถึง 3 ครั้ง) ที่ว่านี้จะถูกแสดงไว้ที่หน้าร้านให้ผู้บริโภคมองสามารถเห็นได้ชัดเจน เดนมาร์กใช้ระบบนี้ดูแลเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารมา 13 ปีแล้ว ทั้งกับร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายของชำ ร้านขายขนมอบ รถเข็นขายอาหาร โรงอาหาร ครัวโรงพยาบาล และบ้านพักคนชรา เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมาเขาเพิ่มหน้ายิ้มแฉ่งติดโบว์ หรือ “อิลิทสไมลี่ย์” ให้กับร้านที่ได้หน้ายิ้มแฉ่ง 4 ครั้งติดต่อกันด้วย แต่วันนี้ อย. ของเดนมาร์กมีแผนที่จะยกเลิกเจ้าอิลิทสไมลี่ย์ เพราะมันทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าร้านที่ได้สัญลักษณ์นี้สะอาดถูกสุขอนามัยกว่าร้านที่ได้รับหน้ายิ้มแฉ่งเฉยๆ นั่นเอง   จิตตกระหว่างทาง ระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางไปทำงานในแต่ละวันนั้น มีผลกระทบต่อระดับความสุข และความกังวลของมนุษย์เงินเดือนมิใช่น้อย นี่เป็นผลจากการสำรวจที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษทำกับประชากร 60,000 คน เพื่อต้องการเปรียบเทียบสภาพจิตใจของคนที่เดินทางไปทำงานกับคนที่ทำงานอยู่กับบ้าน ในภาพรวมเขาพบว่า “การเดินทาง” นั้นส่งผลในทางลบอย่างเห็นได้ชัดต่อความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต และการเห็นคุณค่าในงานที่ทำ นอกจากนี้มันยังมีผลต่อระดับความสุขและความวิตกกังวลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ใช้เวลาเดินทางระหว่าง 60 ถึง 90 นาที ต่อเที่ยว และจะยิ่งหนักหนามากขึ้นในกรณีของผู้ที่เดินทางด้วยรถประจำทางหรือแท็กซี่(อย่างหลังนี่เป็นเพราะนั่งนานแล้วจ่ายมากด้วยหรือเปล่าผลสำรวจเขาไม่ได้บอก) คุณอาจจะนึกว่าการขี่จักรยานไปทำงานน่าจะเป็นทางออก  ... แต่ไม่ใช่ เพราะเขาพบว่าระยะเวลาที่ใช้ยังคงส่งผลในทางตรงข้ามต่อผู้ขับขี่จักรยานอยู่ดี ยิ่งปั่นนาน ความสุขก็จะยิ่งน้อยลง(เขาไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะเหนื่อยหรือเปล่า) โธ่ ผู้คนของเขายังจิตตกได้ขนาดนี้ทั้งๆ ที่ระบบการขนส่งออกจะก้าวหน้า ถ้าสำนักงานสถิติแห่งชาติบ้านเราทำบ้างสงสัยต้องประกาศให้ทุกคนทำงานอยู่บ้านแน่นอน   อ้วนแล้วหล่อ สำหรับหนุ่มๆ ชาวกัมพูชาแล้ว ถ้าอยากจะดูมีเสน่ห์ก็ขอบอกว่าต้องอวบนิดๆ ช่างเข้าทางกับพฤติกรรมการบริโภคของคนสมัยนี้ที่นิยมรับประทานขนมหวาน น้ำอัดลมและ อาหารขยะมากขึ้นเสียเหลือเกิน ในภาพรวมแล้ว กัมพูชามีสถิติคนเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่นานประเทศเพื่อนบ้านของเราเพิ่งจะได้รับตำแหน่งประเทศที่มีพฤติกรรมการกินที่ส่งเสริมสุขภาพที่สุดในโลกจากองค์การออกซ์แฟม งานวิจัยที่ทำในปี 2010 พบว่าร้อยละ 15.5 ของประชากรกัมพูชามีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน จะว่าไปแล้วกัมพูชาก็ไม่ต่างจากอีกหลายประเทศในโลกที่มีทั้งประชากรที่อดอยากและประชากรที่น้ำหนักเกิน อีกหนึ่ง ภาพสะท้อนว่าระบบอาหารของโลกเราช่างไร้สมดุล และทุกวันนี้จำนวนคนเป็นโรคอ้วนในประเทศกำลังพัฒนาแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้วไปถึง 2 เท่าตัว ข่าวจากพนมเปญโพสต์ระบุว่าคนกัมพูชาอวบขึ้น เพราะรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้คนนิยมเข้ามาทำงานในเมืองกันมากขึ้น วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่เคยต้องลงแรงกับการทำการเกษตรก็เริ่มได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่น้อยลง นอกจากนี้สถิติการนำเข้าขนมหวานสำเร็จรูปและน้ำอัดลมเพิ่มขึ้นหลายเท่าระหว่างปี 2003 ถึง 2008 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศไทย และร้านอาหารแบบตะวันตกอย่างร้านเบอร์เกอร์จากอเมริกาก็เริ่มมาเปิดกิจการกันมากขึ้นเช่นกัน หยุดตรวจ? งานวิจัยจากแคนาดา ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้หญิง 90,000 คนในช่วงเวลา 25 ปี ระบุว่าอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมไม่แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจแมมโมแกรมและผู้หญิงที่ไม่ได้รับการตรวจ นอกจากนี้เขาพบว่าการตรวจอาจส่งผลในทางลบ เพราะ 1 ใน 5 ของมะเร็งที่ตรวจพบโดยแมมโมแกรมและได้รับการรักษาไปแล้วนั้นไม่ได้มีอันตรายและไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ทำคีโม หรือฉายรังสีเลยด้วยซ้ำ แม้จะเป็นที่รู้กันว่ามะเร็งบางชนิดเติบโตช้ามาก หรือไม่โตเลย และไม่จำเป็นต้องรักษา บางชนิดหดหายไปเองได้ด้วย แต่เมื่อมีการตรวจพบเราจะไม่มีทางทราบได้ว่ามันอันตรายหรือไม่ แพทย์จึงต้องทำการรักษาทุกกรณีเพื่อเป็นการปลอดภัยไว้ก่อน ณ ปัจจุบัน สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศเดียวที่เปลี่ยนนโยบายการตรวจแมมโมแกรม โดย Swiss Medical Board ประกาศว่าจะไม่มีการเพิ่มสถานพยาบาลที่จัดการตรวจแมมโมแกรมอีก (ปัจจุบันนี้มี 10 เขต จากทั้งหมด 26 เขต) ส่วนโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วก็กำลังจะยกเลิกในอีกไม่ช้า ทั้งนี้เพราะเห็นว่าแมมโมแกรมไม่ได้ลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านม แต่สร้างความวิตกกังวลที่นำไปสู่การรักษาที่ไม่จำเป็น สถาบันมะเร็งแห่งอเมริกา ซึ่งออกมายืนยันว่าการตรวจดังกล่าวสามารถลดอัตราการตายจากมะเร็งเต้านมได้ถึงร้อยละ 15 สำหรับผู้หญิงในวัย 40 ปี และร้อยละ 20% สำหรับผู้หญิงที่สูงวัยกว่า ก็ประกาศว่าจะพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อแนะนำการตรวจแมมโมแกรมสำหรับปีนี้ด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 155 กระแสต่างแดน

โนอั่งเปา ปกติแล้วเทศกาลเต็ด (หรือตรุษจีน) เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอ รอวันหยุดยาวและรอโบนัสจากเจ้านาย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยจะคล่องตัว ปีนี้หลายคนคงจะผิดหวัง สาวโรงงานทำรองเท้ารายหนึ่งในจังหวัดไฮฟอง คาดการณ์ว่าปีนี้เธอคงได้โบนัสจากบริษัทไม่เกิน 300,000 ดอง(ประมาณ 500 บาท) แต่นั่นก็ยังดีกว่าโบนัสตอนปีใหม่ที่ได้แค่  10,000 ดอง(ประมาณ 15 บาท) ซึ่งเธอบอกว่าไม่พอซื้อเฝอ(ก๋วยเตี๋ยว) ชามหนึ่งด้วยซ้ำไป ในขณะที่หนุ่มโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในเมืองฮานอยก็บอกว่าตรุษจีนปีนี้คงไม่สนุก แม้จะได้เงินโบนัสถึง 2,000,000 ดอง(ประมาณ 3,100 บาท) แต่เขาบอกว่าเงินแค่นี้ไม่พอซื้อของขวัญดีๆ ให้ญาติผู้ใหญ่ได้  เต็มที่เขาคงทำได้แค่จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ในครอบครัว   ด้านนายจ้างก็กลุ้มใจไม่แพ้กัน ว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายโบนัสให้พนักงาน เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาแห่งหนึ่งบอกว่าปี 2556 เป็นปีที่ฝืดเคืองมากสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ปีนี้เธอต้องกู้เงินคนอื่นมาจ่ายโบนัสให้พนักงาน แม้จะให้ได้คนละไม่มาก(ประมาณ 800 – 1,500 บาท แล้วแต่ระยะงาน) แต่เธอก็อยากตอบแทนความขยันขันแข็งของลูกน้อง และธุรกิจของเธอก็นับว่าโชคดีมากแล้วที่ยังไม่ล้มละลาย เธอบอกว่า 9 ใน 10 ของธุรกิจขนาดเล็กในเวียดนามกำลังประสบปัญหา ถ้าไปถามใครแล้วเขาตอบว่า “ก็สบายๆ ชิลๆ” แสดงว่าเขาพยายามพูดในทางที่ดีไว้ก่อนเพื่อรักษาหน้า ตัวเลขของทางการก็ช่วยยืนยันความเห็นของเธอ ในปี 2013 เขตโฮอันเกี่ยมมีผู้ประกอบการรายย่อย 546 ราย(จากทั้งหมด 4,000 ราย) ต้องปิดกิจการ สรรพากรเองก็เก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 64 ของที่เคยเก็บได้ ไม่เป็นไร ปีนี้พลาดไปแล้ว ปีหน้าฟ้าใหม่ขอให้เฮงๆ กันกว่านี้ก็แล้วกันนะ     ใครช่างคิด? วันนี้ทุกคนสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตัวเองทางอินเตอร์เน็ต ขอแค่มีบัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรม ซื้อตั๋วเครื่องบิน ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยทิ้งกันไปไหนคือ “ค่าธรรมเนียมการดำเนินการ” (ที่เราดำเนินเอง *-*) ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่ามันเป็นค่าอะไรบ้าง นอกจากค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตอย่างที่เคยรู้มา CHOICE องค์กรผู้บริโภคออสเตรเลียออกมาแฉว่า สายการบินเวอร์จิ้น เจ็ทสตาร์ และแควนตัส คิดค่าธรรมเนียมการจองผ่านบัตรเครดิตถึง 7.70 เหรียญ 8.50 เหรียญ และ 7 เหรียญต่อหัว สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ทั้งๆ ที่ค่าดำเนินการอยู่ที่ร้อยละ 0.81 ของมูลค่าธุรกรรมเท่านั้น จึงเกิดคำถามว่าสายการบินเหล่านี้อ้างการเก็บ “ค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิต” เพื่อเป็นช่องทางหารายได้หรือเปล่า ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางของออสเตรเลียได้ออกมาตรการควบคุมการคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเครดิตในการจ่ายค่าแท็กซี่และซื้อตั๋วเครื่องบินตั้งแต่มีนาคมปีที่แล้ว ผู้ประกอบการบัตรเครดิตก็สนับสนุนการกำหนดเพดานค่าธรรมเนียม เพราะรู้ดีว่าถ้าเก็บมากไป ผู้บริโภคก็จะไม่อยากใช้บัตร การสำรวจในเดือนกันยายนก็พบว่ามาสเตอร์การ์ดและวีซ่าคิดค่าธรรมเนียมการใช้บัตรเฉลี่ยร้อยละ 0.80 ต่อรายการชำระเงินจริงๆ แล้วที่จ่ายกันไปมากกว่านั้น นี่ใครคิดกันเนี่ย??? คนจนงดเจ็บป่วย สิงคโปร์มีประชากร 5.4 ล้านคน รายได้เฉลี่ยต่อปีของประชากรอยู่ที่ 65,048 เหรียญ(1,677,000 บาท) และมีอัตราส่วนเศรษฐีต่อประชากรสูงที่สุดในโลก เมื่ออยู่ในเมืองที่มีค่าครองชีพแพงเป็นอันดับ 6 ของโลก คุณต้องมีรายได้ต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 1,400 - 1600 เหรียญ (36,000 – 41,500 บาท) ถึงจะพออยู่ได้ ปีเตอร์ พนักงานรักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งบนถนนออชาร์ด คือหนึ่งในตัวอย่างของคนรายได้น้อยในสิงคโปร์ที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น เขามีรายได้เดือนละ 1,600 เหรียญ และมีหนี้ที่เกิดจากค่ารักษาภรรยาจากอาการข้อเท้าหักเมื่อสองปีก่อนอีก 20,000 เหรียญ(ประมาณ 515,500 บาท)  ในขณะที่ตัวเองก็เป็นต้อหิน ซึ่งการผ่าตัดรักษาต้องใช้เงินถึง 4,000 เหรียญ(ประมาณหนึ่งแสนบาท) ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทำให้ร้อยละ 72 ของคนสิงคโปร์ เชื่อว่าตัวเองไม่มีเงินพอจะรักษาอาการเจ็บป่วยได้ ทั้งๆ ที่มีระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินสมทบจากรัฐ เช่นในกรณีของปีเตอร์ เขาสามารถเบิกจากกองทุนได้แค่ 1,700 เหรียญเท่านั้น สถิติระหว่างปี 2002 ถึงปี 2011 ระบุว่ารัฐบาลสิงคโปร์ร่วมจ่ายไม่ถึงหนึ่งในสามของค่ารักษาพยาบาล ในขณะที่โดยเฉลี่ยแล้วรัฐบาลของประเทศที่พัฒนาจะร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลประมาณร้อยละ 60 ถึง 70 เฮ้อ .. จนน่ะไม่เท่าไหร่ แต่อย่าป่วยไข้ก็แล้วกัน     ยาดีต้องมีที่มา ไม่เพียงแต่คนไข้เท่านั้นที่ถูกบริษัทยาละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว แม้แต่นักวิจัยและแพทย์เองก็ไม่เคยได้รับทราบข้อมูลสำคัญๆ เกี่ยวกับการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกของยาบางตัว ก่อนที่จะนำไปใช้รักษาคนไข้ด้วยเช่นกัน งานสำรวจพบว่า ความเป็นไปได้ที่บริษัทจะลงพิมพ์ผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์นั้นมีเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น และผลการทดลองที่ให้ผลเป็นบวกนั้นมีแนวโน้มจะได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณะมากกว่า บริษัทมักอ้างว่ามันเป็นความลับทางธุรกิจที่เปิดเผยไปแล้วจะทำให้เสียเปรียบคู่แข่ง จึงเลือกที่จะปกปิดข้อมูลไว้ แม้กระทั่งจากแพทย์ที่จะนำยาไปใช้รักษาคนไข้ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษจึงออกมาเรียกร้องให้มีการเปิดเผยวิธีการและผลการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกของยาทุกตัวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมันมีผลต่อการใช้งบประมาณของประเทศ ในปี 2013 กรมสุขภาพของอังกฤษใช้เงินไปถึง 424 ล้านปอนด์(22,700 ล้านบาท) ในการกักตุนยาทามิฟลูที่เชื่อกันว่าสามารถต้านไว้รัสไข้หวัดใหญ่  โดยที่แพทย์ก็ยังไม่สามารถฟันธงเรื่องผลการรักษาของมันได้ เพราะมีข้อมูลไม่เพียงพอ   เปิ้ลพร้อมเปลี่ยน คณะกรรมาธิการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคของออสเตรเลีย Australian Competition and Consumer Commission ยื่นคำขาดต่อแอ๊ปเปิ้ลให้ปรับเปลี่ยนนโยบายหลังการขายให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคบัดเดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้นเรื่องจะถึงศาล คำขู่นี้ได้ผล แอ๊ปเปิ้ลขอสัญญาว่าจากนี้ต่อไปเขาจะอบรมพนักงานใหม่เรื่องสิทธิในการขอเปลี่ยนหรือซ่อมสินค้าตระกูลไอทั้งหลาย และหยิบเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์ที่ขายไปในรอบสองปีที่ผ่านมาขึ้นมาพิจารณาใหม่ และดูและให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิตามที่ควรจะได้ ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคไม่รู้ตัวเลยว่าพวกเขาได้สิทธิการเรียกร้องต่ำกว่าที่ระบุไว้ตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ของออสเตรเลีย สาวกไอโฟน ไอแพด และไอพอด เชื่อมั่นว่าตนเองได้รับสิทธิเต็มที่แล้วตามแอ๊ปเปิ้ลจัดให้ ด้วยระยะเวลารับประกันหนึ่งปี แต่ตามกฎหมายฉบับนี้ ผู้ขายต้องรับประกันคุณภาพสินค้า “ในระยะเวลาที่เหมาะสม” ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้เข้าข่ายเป็นคอมพิวเตอร์ จึงมีระยะประกัน 2 ปี และผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ที่ขายในร้านทั้งหมดแม้จะไม่ใช่ของแอ๊ปเปิ้ลด้วย นอกจากนี้บริษัทยังรับปากว่าจะแจ้งสิทธิผู้บริโภคไว้ที่หน้าแรกของเว็บไซต์เป็นเวลาสองปี และมีจุดแจกเอกสารของคณะกรรมาธิการการแข่งขันฯ ในร้านทุกสาขาด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 กระแสต่างแดน

เครื่องดื่มบำรุงคลัง สภาล่างของฝรั่งเศสผ่านกฎหมายรับรองการเก็บภาษี “เครื่องดื่มบำรุงกำลัง” ด้วยเหตุผลว่าผลิตภัณฑ์ที่มีคาเฟอีนสูงอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน เพราะมันส่งต่อการเต้นของหัวใจและความดันเลือด ถ้ากฎหมายนี้ผ่านการรับรองของวุฒิสภา รัฐบาลฝรั่งเศสจะมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 60 ล้านยูโร(ประมาณ 2,647 ล้านบาท) จากการเก็บภาษีในอัตรา 1 ยูโร(44 บาท) ต่อเครื่องดื่มบำรุงกำลัง 1 ลิตร ฝรั่งเศสซึ่งเก็บภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงมาได้สองปีแล้ว เพิ่งจะมีผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุงกำลังเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังได้เพียง 5 ปีเท่านั้น แต่ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ให้กับกิจกรรมกีฬาต่างๆ และการทำตลาดทางโซเชียลมีเดีย เครื่องดื่มดังกล่าวก็เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ทั้งในผับ คอนเสิร์ต และสถานที่ออกกำลังกายต่างๆ   ข่าวบอกว่ามีชาวฝรั่งเศสที่เป็นลูกค้าเครื่องดื่มชนิดนี้อยู่ประมาณ 9 ล้านคน และ 1 ใน 4 ของคนกลุ่มนี้อายุระหว่าง 14 – 25 ปี ก่อนหน้านี้องค์การอาหารและยาฝรั่งเศสได้ออกคำแนะนำให้เด็กและวัยรุ่นหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเรดบูล มอนสเตอร์ เบิร์น และ ร็อคสตาร์ และเตือนว่าไม่ควรดื่มพร้อมกับแอลกอฮอล์ หรือดื่มหลังการออกกำลังกาย ถ่ายมากลืมหมด งานวิจัยเขาพบว่าการถ่ายภาพเก็บทุกรายละเอียดในช่วงเวลาดีๆ อย่างวันเกิด วันรับปริญญา วันแต่งงาน ฯลฯ มันจะทำให้เราจดจำเรื่องราวในวันนั้นได้น้อยลง ดร. ลินดา เฮนเคล จากมหาวิทยาลัยแฟร์ฟิลด์ ที่ทำการวิจัยครั้งนี้บอกว่า การที่เราวุ่นวายกดชัตเตอร์อยู่นั้น เราจะประสบการณ์ร่วมกับเหตุการณ์ตรงหน้าน้อยลง และนั่นทำให้เราจำรายละเอียดของช่วงเวลาพิเศษนั้นไม่ได้ดีเท่าที่ควร ข้อสรุปนี้เขาได้จากการทดลองพานักศึกษากลุ่มหนึ่งเดินชมภาพที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งหนึ่งพร้อมฟังการบรรยาย เขาบอกให้นักศึกษาจดจำรายละเอียดของภาพต่างๆ ให้ได้ ใครอยากจะถ่ายรูปเก็บไว้ด้วยก็ไม่ว่ากัน เช้าวันต่อมามีการทดสอบความจำ ปรากฏว่านักศึกษาที่ดูภาพอย่างเดียว กลับจำรายละเอียดของภาพได้ดีกว่าคนที่ใช้กล้องบันทึกภาพไว้ แล้วสิ่งที่อยู่ในภาพถ่าย มีผลต่อความจำของเราหรือไม่? ดร. เฮนเคลบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าตอนถ่ายรูปนั้นคุณตั้งใจสำรวจวัตถุและพื้นหลังในขณะนั้นจริงๆ หรือไม่ เพราะงานสำรวจอีกชิ้นของเธอพบว่า การ “ถ่ายเจาะ” ไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นจะทำให้เราจดจำมันได้ดีขึ้น ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่เราถ่ายเจาะมาเท่านั้น แต่เราจะจำได้ว่าเรากันอะไรออกไปนอกเฟรมด้วย   ภาระผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุชาวจีนคงจะไม่สามารถเปิดกรุเงินเก็บมาใช้เที่ยวต่างประเทศ หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ใช้เงินมากได้ เพราะยังคงมีภาระต้อง “เลี้ยง” ลูก ลี ชวน ในวัย 57 ยังต้องช่วยลูกชายจ่ายค่าผ่อนบ้าน ทั้งๆ ที่ลูกชายของเขาก็มีรายได้ประมาณ 30,000 – 45,000 บาทต่อเดือนแล้วเชียว(ลืมบอกไปว่าลูกชายเขาเพิ่งจะแต่งงาน และต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงค่าน้ำค่าไฟ และอื่นๆ เพราะอยู่ในเมืองที่ ค่าบ้านแพงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีของครัวเรือนถึง 28 เท่า) ผู้สูงวัยเหล่านี้อยากให้ลูกหลานมีชีวิตที่ดี จึงยินดีให้เงินช่วยเหลือ ถ้าไม่มีเงินก็จะใช้วิธีเปิดบ้านให้ลูกและครอบครัวย้ายเข้ามาอยู่เป็นการประหยัดรายจ่าย การสำรวจโดยบริษัทประกัน HSBC Life Insurance ระบุว่าร้อยละ 76 ของชาวจีน จะยังต้องให้เงินสนับสนุนลูกหลานเมื่อตัวเองเข้าสู่วัยเกษียน งานสำรวจครั้งในทำกับกลุ่มตัวอย่างขนาด 16,000 คน ใน 15 ประเทศ มีคนจีนเข้าร่วมการสำรวจ 1,000 คน งานสำรวจนี้พบว่า ร้อยละ 40 ของคนจีนวัยเกษียนยังคงต้องอุปการะลูก ร้อยละ 28 ยังต้องเลี้ยงพ่อแม่ และร้อยละ 9 ยังต้องรับผิดชอบเลี้ยงหลาน เฮ้อ! รวมๆ แล้วเงินเก็บเพื่อความสุขส่วนตัวของผู้สูงอายุเหลือน้อยลง แถมยังต้องทำงานหาเงินหลังวัยเกษียนอีกด้วย   แผนปรองดอง หลังจากพยายามหาทางออกกันมากว่า 20 ปี ในที่สุดอิสราเอล จอร์แดน ปาเลสไตน์ ก็ตกลงกันได้ ... เรากำลังพูดถึงข้อตกลงเรื่องโครงการนำน้ำจากทะเลแดงมาใช้ ข่าวบอกว่าโครงการที่ไปเซ็นสัญญาที่ธนาคารโลก สาขาใหญ่ในกรุงวอชิงตันนี้มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 240 ล้านเหรียญ(7,700 ล้านบาท) ตามแผนแล้วเขาจะสร้างโรงบำบัดน้ำที่เมืองอคาบา ในจอร์แดน เพื่อเปลี่ยนน้ำเค็มจากทะเลแดงให้เป็นน้ำจืดเพื่อรองรับชุมชนทางตอนใต้ของอิสราเอลและจอร์แดน สองประเทศนี้จะได้น้ำไปใช้กันคนละ 8,000 – 13,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนต่อปี ส่วนน้ำเกลือที่เป็น “น้ำเสีย” จากการผลิตจะถูกส่งผ่านท่อในจอร์แดนขึ้นเหนือไปประมาณ 100 ไมล์ เพื่อปล่อยลงในทะเลสาบเดดซี นั่นหมายความว่าต้องมีการจับตาดูการบริหารจัดการน้ำเค็มนี้ให้ดี ไม่อย่างนั้นทะเลสาบเดดซีจะกลายเป็นทะเลสาบมรณะไปจริงๆ นอกจากนี้อิสราเอลจะต้องส่งน้ำจืด 13,000 พันล้านแกลลอน จากทะเลกาลิลีทางตอนเหนือของประเทศ ให้กับอัมมานเมืองหลวงของจอร์แดน และปาเลสไตน์ก็คาดหวังว่าจะสามารถซื้อน้ำได้อีก 8,000 ล้านลูกบาศก์แกลลอนจากอิสราเอลในราคาพิเศษด้วย ที่มาของข้อตกลงนี้คือการพยายามแก้ปัญหาหลักๆ สองประการคือ 1) การขาดแคลนน้ำจืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจอร์แดน และ 2) การลดลงของระดับน้ำในทะเลสาบเดดซีปีละกว่า 3 ฟุต เพราะน้ำส่วนใหญ่ในแม่น้ำจอร์แดน ถูกเบี่ยงเส้นทางออกไปยังชุมชนและไร่นาในอิสราเอล จอร์แดน และซีเรีย จึงทำให้แทบไม่มีน้ำไหลเขามาในทะเลสาบ แถมยังมีอุตสาหกรรมโปแตช สองฝั่งทะเลสาบอีกด้วย   ศึกคุ้มครองผู้บริโภค ที่เมียนมาร์ไม่ได้มีแค่ศึกซีเกมส์ เขายังมีแมทช์องค์การอาหารและยา ปะทะ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้ลุ้นกัน ด้าน อย. นั้นเตรียมจะฟ้องสมาคมฯ โทษฐานแอบอ้างอำนาจของกระทรวงสาธารณสุขในการออกตรวจแผงขายอาหาร ส่วนสมาคมฯ ก็ขู่จะฟ้อง อย. ที่พยายามลดความน่าเชื่อถือของสมาคมฯ ซึ่งเพิ่งจะได้รับการก่อตั้งเมื่อปีที่แล้วให้มาช่วย อย.ทำงานด้านอาหารปลอดภัยและอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สองหน่วยงานนี้ไฝ่ว์กัน ล่าสุดเมื่อมีสายมารายงานว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตกะปิจากปลา เพื่อช่วยย่นระยะเวลาการหมัก(ซึ่งปกติจะนานถึง 12 เดือน) จึงมีการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาทดสอบ ผลปรากฏว่าห้องแล็บของอย. พบยูเรียในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 3 ตัวอย่าง แต่อย. ไม่ยอมเปิดเผยปริมาณที่พบ เพียงแต่แถลงข่าวว่าพบในปริมาณปกติทั่วไป ส่วนสมาคมฯ นั้นตีพิมพ์ผลทดสอบทั้งหมด ให้รู้กันไป จึงสร้างความหงุดหงิดใจให้กับ อย.และบรรดาผู้ประกอบการ ที่อ้างว่ายอดขายกะปิปลาของเขาลดลงทั้งๆ ที่เขาได้รับการรับรองความปลอดภัยจาก อย.แล้ว หมัดเด็ดอยู่ตรงที่ สมาคมฯ ประกาศว่าจะเปิดห้องปฏิบัติการของตัวเองเพื่อทดสอบอาหาร เพราะรู้สึกไม่เชื่อในผลการทดสอบจากอย. แล้ว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสต่างแดน

มาดริดอาจต้องคิดใหม่ ช่วงนี้ชาวเมืองมาดริดมีเรื่องให้ได้เซ็งกันอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะได้ทราบข่าวร้ายว่าไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 ไปได้ไม่นาน ล่าสุดพนักงานกวาดถนนและเก็บขยะในเมืองก็พากันประท้วงหยุดงานอีก ผู้ประท้วงไม่พอใจที่เทศบาลประกาศปลดพนักงานกว่า 1,135 คน (จากทั้งหมด 7,000 คน) และลดเงินเดือนพนักงานที่ยังได้ทำงานต่อลงไปเกือบร้อยละ 40  รวมถึงบริษัทที่รับเหมางานจากเทศบาลก็บอกเลิกจ้างคนงานไป 350 คนแล้วเช่นกัน ทั้งหมดเป็นผลจากการที่ส่วนหน่วยงานราชการต้องรัดเข็มขัดตัดงบประมาณ   หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการที่แย่มากของนายกเทศมนตรี อนา โบเทลลา เธอเลือกที่จะไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานหรือการเพิ่มค่าแรง แต่กลับขู่ผู้ประท้วงว่าถ้าไม่กลับไปจับไม้กวาดมาทำงานต่อภายใน 48 ชั่วโมง เธอจะเลิกจ้างพวกเขาไปเลย เนื่องจากไม่มีการกวาดถนนหรือเก็บขยะมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ภาพเมืองหลวงของสเปนที่มีประชากร 3.2 ล้านคนที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจึงเป็นภาพเมืองที่มีขยะกองเกลื่อนเต็มถนนหนทาง คนมาดริดอาจเซ็งต่อได้อีกถ้าผู้ว่าฯ และทีมงานยังไม่เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ก่อนการประท้วง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนมาดริดลดลงไปร้อยละ 7.7 ทั้งๆ ที่จำนวนคนที่เดินทางมาสเปนนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 คงจะถึงเวลาแล้วที่มาดริดจะต้องทำให้เหมือนกับในคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวดชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกที่ย้ำว่า “Madrid makes sense” ไม่เช่นนั้นมาดริดอาจจะถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 4   มีขึ้น แต่ไม่มีลง ข่าวบอกว่าคอกาแฟที่เดนมาร์ก (และอาจจะที่บ้านเราด้วย) ยังจ่ายเงินซื้อกาแฟในราคาเท่าเดิมทั้งๆ ที่ราคาเมล็ดกาแฟต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกาในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 โครน (80 บาท) แต่ราคาที่คนเดนมาร์กรับรู้ยังคงเป็นราคากาแฟในช่วงที่อากาศในอเมริกาใต้ไม่เป็นใจกับการเพาะปลูก ซึ่งสูงถึง 34 โครน (195 บาท) ต่อกิโลกรัม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศตะวันตกที่ผู้ประกอบการมักได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้ความเป็นไปในตลาด และมักให้เหตุผลเดิมๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่ง บรรจุหีบห่อ ภาษีและค่าจ้างพนักงานเวลาที่ตั้งราคาสินค้า แสดงว่าถ้าภาษีลด ราคาสินค้าก็จะลดลง? มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากที่รัฐบาลเดนมาร์กประกาศลดภาษีเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลงร้อยละ 15 ราคาขายปลีกของสินค้าเหล่านี้ก็ยังคงเท่าเดิม ในเดือนมีนาคมปี 2012 เทศบาลโคเปนเฮเกนประกาศลดค่าธรรมเนียมการประกอบการร้านอาหารกลางแจ้ง เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อเครื่องดื่มในราคาที่ถูกลง แต่ผลการสำรวจปรากฏว่าแทบไม่มีร้านไหนปรับราคาเครื่องดื่มลงเลย ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการกลับใช้โอกาสที่รัฐเรียกเก็บภาษีมาเป็นเหตุผลในการขึ้นราคาสินค้า คงยังจำกรณีภาษีไขมันที่เรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 2.3 กันได้ งานสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและกระทรวงภาษีของเดนมาร์กพบว่ามีการตั้งราคาสินค้าเกินจากส่วนที่ต้องเสียภาษีไขมันเพิ่มไปมากทีเดียว เช่น ราคาซาวครีมน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.6 เมื่อรวมภาษีแล้ว แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งราคาขายแพงขึ้นจากเดิมไปถึงร้อยละ 17.3 และที่ตลกที่สุดคือ ปัจจุบันภาษีดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ราคาสินค้าเหล่านั้นก็ยังไม่ถูกลง ค่อยๆ เรียน ไม่ได้มีแต่เมืองไทยที่ปรับลดเวลาเรียนลง หลักสูตรประถมศึกษาของเวียดนามหลังปี 2015 ก็จะทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาเล่นมากขึ้น ระยะเวลาเรียนจะลดลงจาก 37 สัปดาห์เป็น 35 สัปดาห์ และวิชาเรียนจะมีเพียง 3 วิชาเท่านั้น จากปัจจุบันที่เรียนอยู่ 8 วิชา สถาบันวิจัยการศึกษาเวียดนามเสนอหลักสูตรใหม่สำหรับระดับประถมศึกษาเพราะเชื่อว่าเวียดนามควรมีระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการและให้ความสนใจกับความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มากกว่าการให้เพียงความรู้ทางวิชาการแบบเมื่อก่อน ปัจจุบันเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ต้องเรียนทั้งหมด 8 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม ศีลธรรม ธรรมชาติและสังคม ดนตรี ศิลปะ งานฝีมือ และพลศึกษา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอีก 2 กิจกรรม แต่หลังจากปี 2015 พวกเขาจะเรียนแค่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม และวิชา “ชีวิตรอบตัวเรา” ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิชาที่บูรณาการความรู้ในเรื่องธรรมชาติและสังคม รวมกับกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่าง ศิลปะและกีฬา เป็นต้น เด็กๆจะได้เรียนภาษาต่างประเทศเมื่อพวกเขาขึ้นชั้นประถมปีที่ 3  ส่วนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 – 5 นั้นจะมีวิชาเรียนไม่เกิน 6 วิชา แต่ปัญหาหลักของเวียดนามขณะนี้คือการไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม/จัดทำตำราเรียน หนังสือที่ใช้กันอยู่เป็นตำราที่เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูผู้สอน ซึ่งแม้จะมีความรู้ความชำนาญในสาขาต่างๆ แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญการเขียนตำราเรียน เห็นมากับตา โฆษณามาสคาร่ามักจัดเกินเสมอเพราะรู้ว่าขนตาหนางอนงามในสามโลกเป็นสิ่งที่สาวๆ ปรารถนา และนั่นคือสิ่งที่เมย์เบลลีนใช้กับโฆษณามาสคาร่ารุ่น Volume Express the Rocket ในนิตยสารแฟชั่น ที่นางแบบมีขนตาหนาสุดๆ ด้วยมาสคาร่า ... และขนตาปลอม หลังจากที่มีการร้องเรียน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องโฆษณาของออสเตรเลีย National Advertising Division ได้ออกข้อกำหนดว่าต่อไปนี้ห้ามใช้ขนตาปลอมในโฆษณามาสคาราเด็ดขาด หรือถ้าจะใช้ก็ต้องแจ้งในตัวโฆษณาให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจน โฆษณาดังกล่าวที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้ขนตาหนาขึ้น 8 เท่านั้น มีตัวหนังสือเล็กๆ ระบุไว้ด้านล่างว่านางแบบใช้ขนตาปลอม แต่คำตัดสินฟันธงว่าการมีข้อความที่ขัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสิ่งที่ต้องการสื่อในโฆษณานั้น ไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้ เมย์เบลลีนกำลังอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบโฆษณาแห่งชาติ National Advertising Review Board ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมกันเองโดยความสมัครใจของภาคธุรกิจ ผู้ใหญ่ของบริษัทลอรีอัลซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เมย์เบลลีน ยืนยันว่าเขียนตัวเล็กๆ ก็พอแล้ว สาวๆ เขารู้ดีว่าผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์มันแตกต่างกันตามรูปลักษณ์และเทคนิคการแต่งหน้าของแต่ละคน พวกเธอไม่ได้คาดหวังว่าจะตัวเองจะมีขนตาเหมือนนางแบบหรอก ด้านเลขาธิการขององค์กร Truth in Advertising องค์กรไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์คัดค้านการโฆษณาหลอกลวง ตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณจะขายของผ่านโฆษณาที่เป็นภาพถ่าย อย่างน้อยๆ ภาพถ่ายนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมิใช่หรือ?” ใครเอาเนยแข็งของร้านไป? การขโมยของในห้างที่อังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากเมื่อสองปีก่อน ร้อยละ 36 ของการขาดทุนของร้านค้าปลีกในอังกฤษก็เกิดจากการถูกมือดีมาขโมยของในร้านนั่นเอง ข่าวบอกว่าอาจเป็นเพราะความกดดันที่เกิดขึ้นกับภาวะการเงินครอบครัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ผู้กระทำผิดมักเป็นคนรายได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็หันมาลักขโมยกับเขาด้วยเพราะยังอยากมีวิถีชีวิตแบบเดิมแม้รายได้จะลดลง ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่าปัจจุบันสินค้าที่ถูกขโมยมากขึ้นคือ อาหารราคาแพง เช่น เนื้อสด แฮม เบคอน อกไก่ เนยแข็ง กาแฟ ไวน์ และว้อดกา ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายแล้วก็ตกประมาณ 3,400 ล้านปอนด์ (1.7 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ Euromonitor International ยังระบุว่าหนึ่งในสามของการลักขโมยสินค้าในร้าน เกิดจากพนักงานของทางร้านเอง ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ข้อมูลจาก Global Retail Theft Barometer ระบุว่าการขโมยสินค้าในห้าง ทั้งโดยคนทั่วไปและโดยขบวนการต่างๆ นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกแห่งในโลก พูดง่ายๆ คือมีคนลงมือขโมยกันมากขึ้น และแต่ละครั้งที่ขโมยก็จะขโมยในปริมาณมากขึ้นด้วย ทางออกของห้างร้านเหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าราคาสินค้าก็คงจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ้มกันไปทุกฝ่าย เพราะดูเหมือนว่าสาเหตุที่เนยแข็งหายไปนั้น เป็นเพราะรายได้ที่หายไปนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 152 กระแสต่างแดน

รับประกันความเหนียว ในครึ่งแรกของปี 2013 ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร ที่คนอังกฤษร้องเรียนบ่อยที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวกับ “การประกันเงินกู้” ธนาคารและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อังกฤษนิยมขายบริการเงินกู้พ่วงกับการประกัน ด้วยเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบจ่ายหนี้ให้ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร เพราะบรรดาข้อยกเว้นยุบยิบที่แนบท้ายมาในกรมธรรม์นั่นเอง ผู้ตรวจการด้านการเงินการธนาคารของอังกฤษบอกว่า ในบรรดาเรื่องร้องเรียน 327,000 เรื่องที่ส่งเข้ามา มีถึงร้อย 86 ที่เป็นกรณีธนาคารเบี้ยวเงินชดเชย หรือไม่ก็ถ่วงเวลาให้ผู้เอาประกันต้องรอโดยไม่จำเป็น   รายงานดังกล่าวระบุว่า 1 ใน 3 เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของสถาบันการเงินในกลุ่ม Lloyds Banking Group โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งสกอตแลนด์ ที่มีคนร้องเรียนมากกว่า 58,000 ราย และที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับสองได้แก่ บาร์เคลย์ ด้วยเรื่องร้องเรียนกว่า 44,000 เรื่อง ผู้ตรวจการฯ พบว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งเงินสำรองสำหรับการประกันเหล่านี้ไว้ถึง 18,000 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังปฏิเสธการให้เงินชดเชยกับผู้เอาประกันแม้ในกรณีที่สมควรจ่าย และที่สำคัญ 1 ใน 3 ของกรณีขอรับการชดเชยที่ถูกปฏิเสธไปนั้น เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าเข้าข่ายการได้รับเงินชดเชยด้วย ยังดีตรงที่ในการยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการนั้น เขากำหนดให้ธนาคาร/บริษัทที่ขายประกัน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 550 ปอนด์ต่อเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะได้รับผลการพิจารณาว่าธนาคาร/บริษัทต้องรับผิดชอบหรือไม่ ค่อยยังชั่ว ... นึกว่าต้องซื้อประกันเพื่อความมั่นใจว่าประกันเงินกู้ที่ซื้อไว้จะจ่ายค่าชดเชยให้เราอีกด้วยนะนี่   ถูกไป..ไม่กล้าซื้อ ในห้างเมโทรของเวียดนาม ส้มนำเข้าจากออสเตรเลียขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 50,999 ดอง(75 บาท) แอปเปิ้ลจากอเมริกาก็กิโลกรัมละ 44,900 ดอง(66 บาท) เท่านั้น แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้บริโภคไม่แน่ใจว่ามันมาจากไหนกันแน่ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่าเวียดนามมีกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้ที่เข้มงวด ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบเพื่อหาแมลง โรคระบาด หรือสารเคมีตกค้างต่างๆ ราคาผลไม้นำเข้าที่นั่นจึงค่อนข้างแพง กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ยืนยันว่าปัจจุบันผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศตะวันตกนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เห็นขายกันอยู่ตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้า ที่สำคัญข่าวเขาบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของผลไม้นำเข้า เพราะแม้แต่สมาคมผักและผลไม้แห่งเวียดนามเองก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ส่งออกเท่านั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอก แอปเปิ้ลส่วนใหญ่ที่ขายในเวียดนามมาจากจีน โดยอ้างอิงตัวเลขของจีนที่ระบุว่ามูลค่าการส่งออกแอปเปิ้ลมาเวียดนามในระหว่างปี 2008 -2010 อยู่ที่ 53 ล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเลขจากอเมริกามีเพียง 8 ล้านเหรียญเท่านั้น   แบรนด์นั้นสำคัญแต่ ... การสำรวจความเห็นของคน 134,000 คน ทั่วโลก โดย Havas Media Group พบว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์นัก ถ้าร้อยละ 73 ของแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะหายไปจากโลกนี้ และพวกเขาเชื่อว่ามีเพียง 1 ใน 5 ของแบรนด์เหล่านี้เท่านั้นที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นจริงๆ ถ้าเจาะดูเฉพาะคนยุโรป จะเห็นว่าค่อนข้างโหดทีเดียว พวกเขาเชื่อว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของแบรนด์เท่านั้นที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และก็ไม่แคร์แม้ว่าร้อยละ 93 ของแบรนด์ที่มีอยู่จะหายไป มีเพียง 1 ใน 5 ของคนยุโรปและ 1 ใน 4 ของคนอเมริกันเท่านั้น ที่เชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้สื่อสารกับตนเองด้วยความจริงใจเวลาที่ให้คำมั่นสัญญาหรือประกาศเจตนารมณ์ใดก็ตาม เจ้าของแบรนด์อาจจะอยากทบทวนการใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์ที่ทุ่มเทให้กับการสร้างแบรนด์ แล้วหันมาเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมแทน เพราะตัวเลขจากตลาดหุ้นยืนยันว่าบริษัทที่แสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมได้ชัดเจน จะมีผลประกอบการที่สูงกว่าด้วย ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์สามารถมีบทบาทในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มสุขภาวะของพวกเขา  คนยุโรปและอเมริกากว่าครึ่งก็เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันแบรนด์เหล่านี้ยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้   เหมือนเดิม .. โซเดียมด้วย ด้วยกระแสกดดันให้ลด ละ เลิก อาหารที่มีไขมัน เกลือหรือน้ำตาลสูง ทำให้เราคิดไปว่าบรรดา ร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ๆ เขาคงจะปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น ... หรือเปล่า? งานสำรวจที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of the Academy of Nutrition and Diabetes เปิดเผยว่า ปริมาณแคลอรี่และโซเดียมในอาหารจานหลักของร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาในปี 2011 ก็ไม่ได้ลดลงจากปี 2010 แต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลจากสำรวจอาหารจากหลัก 26,000 เมนู ในร้านจานด่วน 213 สาขาทั่วอเมริกา ในปี 2010 ค่าเฉลี่ยของพลังงานที่ได้จากอาหารจานหลัก 1 จานในร้านเหล่านี้อยู่ที่ 670 แคลอรี่ และยังคงเท่ากับค่าในปี 2011 ที่ร้านอาหารเริ่มแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารเมนูต่างๆ แล้ว และแม้จะมีการลดปริมาณแคลอรี่ลงเล็กน้อยในเมนูทั่วไป กลับไม่มีการลดปริมาณแคลอรี่ในเมนูสำหรับเด็ก ส่วนปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยก็ลดลงเพียง 15 มิลลิกรัมต่อเมนูเท่านั้น ผู้วิจัยยังพบด้วยว่า แม้ร้านเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนเมนูอยู่เป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพก็จะมีการใส่เมนูตามใจปากเข้ามาด้วย การสำรวจนี้ฟันธงว่า ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับปรุงโภชนาการของอาหารในร้านให้ดีขึ้น  มาตรการที่กำหนดให้แสดงข้อมูลโภชนาการเพียงอย่างเดียวจึงน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอเมริกามีนิสัยการกินที่ดีขึ้น     พร้อมรับคนสูงวัย การสูงวัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรทุกคนอยู่ตลอดเวลา เรามาดูกันว่าประเทศไหนพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุกว่ากัน การสำรวจ Global AgeWatch Index 2013 ที่ทำใน 91 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 89 ของจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะดีที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในแต่ละด้านที่ทำการสำรวจ ซึ่งได้แก่ 1) ความมั่นคงทางรายได้  2) สุขภาพ  3) การจ้างงาน/การศึกษา และ 4) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต  แต่สวีเดนซึ่งมีประชากรวัย 60 ขึ้นไปประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 9.5 ล้านคน ก็ติดอยู่ในอันดับท็อปเท็นของทุกด้าน ในด้านรายได้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของประชากรนั้นมีเพียงแค่ร้อยละ 9 และคนสวีเดนยังมีอายุคาดหลังวัย 60 ไปอีก 24 ปี อีกทั้งเขายังพบว่ามีประชากรในวัย 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 95.6 ที่รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมาย และผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 – 64 ปีที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีมากกว่าร้อยละ 70 ด้วย ตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีรายได้ดีที่สุดนั้นเป็นของลักเซมเบิร์ก ด้านสวิตเซอร์แลนด์ได้ครองตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่สุด ส่วนนอร์เวย์รั้งตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุสูงที่สุด ในขณะที่ผู้สูงวัยชาวเนเธอร์แลนด์คือกลุ่มคนที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้โดยอิสระมากที่สุด และหากคุณสงสัย ... ประเทศไทยก็ไม่ขี้เหร่ เข้าอันดับที่ 42 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (งานนี้เขาไม่ได้สำรวจที่สิงคโปร์) และเราได้อันดับที่ 8 ในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เพราะมีถึงร้อยละ 89 ที่รู้สึกว่าตนเองสามารถติดต่อเพื่อนหรือญาติได้ในกรณีที่มีปัญหา และมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่รู้สึกว่ายังสามารถเดินไปไหนมาไหนในเมืองได้โดยไม่ต้องกลัวอันตราย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสต่างแดน

ไถ่บาปให้ชะมด โทนี่ ไวลด์ นักธุรกิจรายแรกที่ทำให้โลกตะวันตกได้รู้จักกับกาแฟขี้ชะมด(ที่ฝรั่งเรียกกันว่า Kopi Luwak) ออกมาชักชวนให้คอกาแฟทั้งหลายเลิกดื่มกาแฟดังกล่าว เขาบอกว่าทุกวันนี้แทบจะไม่มีกาแฟขี้ชะมดแบบดั้งเดิมแล้ว ที่ขายกันอยู่ในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ตอนนี้ที่ราคากิโลกรัมละเกือบ 25,000 บาทนั้น ส่วนใหญ่ได้จากฟาร์มชะมดเลี้ยง ไม่ใช่ชนิดที่ต้องไปหาเก็บเองตามธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน ก่อนหน้านี้ ชาวไร่กาแฟบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย จะออกไปเก็บเมล็ดกาแฟจากมูลของชะมดที่แอบเข้ามาเลือกกินลูกกาแฟสุกแล้วถ่ายออกมา ซึ่งรวมๆ แล้วเก็บมาขายได้เพียงปีละ 500 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 50 ตันต่อปี ฟาร์มชะมดในอินโดนีเซียที่เลี้ยงชะมดไว้ 240 ตัว สามารถผลิตเมล็ดกาแฟดังกล่าวได้ถึง 7 ตัน โดยปกติแล้วชะมดจะออกหากินโดยลำพังในเวลากลางคืน แต่ “กระบวนการผลิต” กาแฟรสเลิศนี้เป็นการนำพวกมันมาอยู่รวมกันในกรง ทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งอาหาร นำไปสู่แผลเหวอะหวะและการติดเชื้อ  ซึ่งภาพดังกล่าวคือภาพที่สถานีโทรทัศน์บีบีซีนำออกมาเผยแพร่ และทำให้คนอังกฤษรวมถึงโทนี่ ไวลด์ไม่อยากดื่มกาแฟที่ว่าอีกต่อไป   ด้านสมาคมกาแฟขี้ชะมดแห่งอินโดนีเซียก็ออกมาชี้แจงว่า ชะมดมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายในกรงที่โอ่อ่า ด้วยเนื้อที่ถึง 2 ตารางเมตร และยืนยันว่าฟาร์มกรงโหดที่เป็นข่าวนั้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ตำนานกาแฟชะมดบนเกาะอังกฤษเริ่มขึ้นในปี  1981 เมื่อโทนี่ ไวลด์ ได้อ่านเรื่องของกาแฟโกปิ ลูวะ (ในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก) ที่มีความหอมกลมกล่อมด้วยเมล็ดกาแฟจากมูลชะมด ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวจากลำไส้และต่อมกลิ่นของมัน เมื่อถึงปี 1991 ที่เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการจัดซื้อเมล็ดกาแฟของบริษัท เทย์เลอส์ ออฟ ฮาโรเกต ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายชาและกาแฟเจ้าเก่าแก่ของอังกฤษ เขาจึงลองซื้อมา 1 กิโลกรัม เรื่องราวของกาแฟที่เขาซื้อมา เข้าตาสื่อทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จนเขาต้องสั่งนำเข้ากาแฟดังกล่าวในที่สุด นอกจากกาแฟขี้ชะมดแล้วเรายังมีกาแฟขี้ช้าง กาแฟขี้นก กาแฟขี้ลิง ไว้สนองความต้องการอันดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ณ จุดนี้กาแฟที่แพงที่สุดในโลกคือกาแฟที่ได้จากมูลของตัว Uchunari (คล้ายชะมด) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศเปรู ... มันรู้ชะตากรรมของตัวเองหรือยังหนอ ...     เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ โกง เป็นที่รู้กันดีว่าการจัดงานเลี้ยงตามธรรมเนียมจีนนั้นต้องยิ่งใหญ่อลังการและอาหารต้องหรูเลิศ ประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพถึงปีละ 300,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,000,000 ล้านบาท ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จึงประกาศห้ามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการทหารจัดงานเลี้ยงโดยใช้เงินหลวงเด็ดขาด นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามคอรัปชั่น นโยบายดังกล่าวสั่นสะเทือนธุรกิจส่งออกอาหารแห้ง(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ และรังนก) มิใช่น้อย อย่างน้อยบริษัทจดทะเบียนของฮ่องกง 2 บริษัท ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้นถึงความเสี่ยงที่ผลกำไรจากการประกอบการในปีนี้อาจลดลงเพราะมาตรการรัดเข็มขัดและปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ นโยบายนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งจะผ่านไป  รัฐบาลจีนประกาศห้ามการให้ของขวัญกันด้วยขนมไหว้พระจันทร์ชนิดหรูหรา ที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นการให้สินบนมากกว่าการให้เพื่อแสดงความรัก ความหวังดี ปีนี้ขนมไหว้พระจันทร์ชนิดที่ใส่หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ รังนก หรือแม้แต่ใส่เงิน หรือทองลงไป จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดแล้ว ข่าวบอกว่าชนิดที่ยังขายดี ที่คนซื้อไปเป็นของขวัญให้กันเป็นชนิดที่ราคาประมาณ 1,000 บาท ลืมบอกไปว่า รัฐบาลจีนเปิดสายด่วนให้ประชาชนโทรเข้าไปแจ้งเมื่อพบเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยของข้าราชการด้วย   คราบที่ซักไม่ออก มาดูความคืบหน้าจากกรณีตึกรานาพลาซ่า ที่บังคลาเทศถล่มทับคนงานเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คนกันบ้าง มีการประเมินไว้ว่าจะต้องมีการให้เงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 56 ล้านยูโรแก่เหยื่อของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ล่าสุดข่าวบอกว่า ขณะนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 300 รายที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอได้ ตามระเบียบแล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 600,000 บาท ให้แก่ญาติของเหยื่อที่ผ่านการตรวจดีเอ็นเอแล้วเท่านั้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการประชุมที่เมืองเจนีวา ระหว่างองค์กรที่รณรงค์เรื่องความเป็นธรรมต่อคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับบรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่จ้างผลิตโดยโรงงานในตึกรานาพลาซ่า แต่การประชุมครั้งนั้นถือว่าล้มเหลว เพราะมีเพียงหนึ่งในสามของบริษัทดังกล่าวเข้าร่วมประชุม เจ้าใหญ่อย่าง Walmart  Benetton  และ Mango  ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยแสดงท่าที จะมีก็เพียงบริษัท Primark สัญชาติไอร์แลนด์เท่านั้นที่รับปากจะจ่ายเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนสามเดือนให้กับผู้บาดเจ็บหรือครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการจ่ายเพิ่มเติมจากการให้เงินชดเชยเบื้องต้นกับผู้เคราะห์ร้ายรายละ 6,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม บังคลาเทศ ซึ่งมีโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึง 4,500 โรง ได้ประกาศใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างและเข้มงวดกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น   หมูกระป๋อง เพื่อคนที่คุณรัก เทศกาลไหว้พระจันทร์ของคนเกาหลีใต้ ไม่ต้องพึ่งพามูนเค้กหรือขนมไหว้พระจันทร์แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดคือ สแปม ไม่ใช่ชนิดที่หลอนคุณในคอมพิวเตอร์ แต่เป็นสแปม เนื้อหมูอัดกระป๋อง ที่คนเกาหลีได้รู้จักเป็นครั้งแรกเมื่ออเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพสมัยสงครามเกาหลี มันเป็นอะไรที่ดังกว่าโคคาโคล่าหรือเค เอฟ ซี และเป็นของขวัญที่ได้รับแล้วอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก ห้างต่างๆ จึงนิยมจัดแพ็คเก็จเป็นกล่องหรือตะกร้าของขวัญสวยหรูไว้ให้ซื้อกันได้สะดวก ชุดหนึ่งประมาณสองพันกว่าบาท  แม้ในอเมริกามันจะเป็นอาหารสำหรับคนรายได้น้อย แต่ที่นี่มันเป็นของโปรดของคนมีอันจะกิน คนเกาหลีเขายังมีสูตรอาหารที่ใช้เจ้าสแปมเป็นวัตถุดิบอยู่ไม่น้อย แต่ที่นิยมกันสุดๆ ได้แก่ “สตูว์กองทัพบก” (ดูจากชื่อแล้วน่าจะใหญ่กว่า “โจ๊กกองปราบ”) ตำรับนี้เกิดขึ้นช่วงหลังสงคราม  สแปมเป็นอาหารยอดนิยมที่มีการลักลอบนำออกมาจากกองทัพมาปล่อยในตลาดมืดมากที่สุด และชาวบ้านก็นิยมเอามาใส่ซุปรสแซ่บสไตล์เกาหลี ซึ่งยังเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ร้านอาหารที่เชี่ยวชาญเมนูจากสแปมนั้นมีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์ท่านว่าต้องไปชิมสตูว์ดังกล่าวจากร้านที่ตั้งเรียงรายบนถนนที่ติดกับกองทัพฯ นั้นแล     รถเขียวเอื้ออาทร ก่อนหน้านี้ไม่นานรองประธานาธิบดีของอินโดนีเซียประกาศแผนลดปัญหาการจราจรให้กับเมืองจาการ์ต้า ตามแผนดังกล่าวนั้นเขาบอกว่า จะมีการนำระบบ ERP (Electronic Road Pricing) หรือการคิดค่าธรรมเนียมการใช้ถนนตามพื้นที่มาใช้ในจาการ์ต้า พร้อมกันนี้จะเพิ่มจำนวนรถประจำทาง เพิ่มความเข้มงวดให้เลนรถประจำทางมีแต่รถประจำทางจริงๆ นอกจากนั้นเขาจะปรับกฎเกณฑ์และเพิ่มค่าธรรมเนียมในการจอดรถริมถนนด้วย นี่เป็นเพียงบางส่วนของแผนที่มีถึง 17 ขั้นตอน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศลดภาษีให้กับผู้ที่ซื้อรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย ที่มีราคาไม่เกิน 100 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 320,000 บาท) ที่วิ่งได้ 20 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ลิตร แผนนี้เข้าทางรถอีโคคาร์สองรุ่น ได้แก่ โตโยต้า Agya และไดฮัทสุ Ayla ที่ขณะนี้มียอดจองรวมกัน 18,000 คัน ... และผู้ประกอบการบอกว่าถึงสิ้นปีน่าจะมียอดจองประมาณ 30,000 คัน คนที่มึนที่สุดกับนโยบายนี้คือผู้ว่านครจาการ์ต้า ที่ในที่สุดตัดสินใจส่งจดหมายไปขอให้มีการทบทวนนโยบายรถเขียวเอื้ออาทรที่ว่านี้โดยพลัน เพราะเขามองว่าท้องถนนจาการ์ต้าคงรับมือกับรถใหม่ที่จะออกมาไม่ไหว และมันคงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิบัติตามแผน 17 ขั้นตอนที่ว่า   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 149 กระแสต่างแดน

คุณบอกดาว! มาตรการใหม่จากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของออสเตรเลียจะทำให้คุณแอบอิจฉา เพราะต่อไปนี้จะมีการ “ติดดาว” ให้กับอาหารสำเร็จรูปเพื่อบอกให้รู้ว่าอาหารนั้นดีต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด Health Star Rating ที่ว่านี้มีตั้งแต่ ครึ่ง ถึง 5 ดาว โดย 5 ดาวหมายถึงอาหารที่มีประโยชน์สุดๆ จะกี่ดาวไม่ว่า แต่เขากำหนดให้ผู้ผลิตนำเสนอดาวอย่างชัดเจนบนฉลากด้านหน้าของบรรจุภัณฑ์เท่านั้น เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน กว่าจะตกลงกันได้ รัฐบาล ผู้ผลิต องค์กรด้านสุขภาพ และองค์กรผู้บริโภค ก็ใช้เวลาหลายปี ไหนจะมีการล็อบบี้จากอุตสาหกรรมอาหารเข้าแทรกเป็นระยะ   ด้านผู้ผลิตก็มีความหงุดหงิดอยู่บ้างเป็นธรรมดา เขาบอกว่าต้องใช้เงินถึง 200 ล้านบาท ในการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ของแพคเก็จ และยังบอกด้วยว่ายังไม่เห็นหลักฐานจากงานวิจัยที่บอกว่าการติดดาวนี้จะแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ ออสเตรเลีย ซึ่งประชากร 10 ล้านคน (จากทั้งหมด 23 ล้านคน) อยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน ตั้งเป้าจะลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังและโรคอ้วนได้ด้วยวิธี “ติดดาว” ซึ่งถือเป็นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน ขั้นแรกเขาให้เป็นความสมัครใจของผู้ผลิต แต่ถ้าสองปีผ่านไปแล้วคนสมัครใจยังมีน้อยมาก ก็จะเปลี่ยนเป็นแบบบังคับกันล่ะครับผม   การศึกษาดีเริ่มที่บ้าน ที่เมืองจีนนั้นคุณจะไม่มีสิทธิเลือกโรงเรียนถ้าคุณต้องการให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาล เพราะกฎหมายกำหนดให้คุณส่งลูกเรียนในโรงเรียนใกล้บ้านเท่านั้น แต่โรงเรียนดีๆ ที่สามารถการันตีอนาคตเด็กได้กลับมีน้อยมาก (คุ้นๆนะ) เรียกว่าถ้าใครมีบ้านอยู่ในเขตเดียวกับโรงเรียนดังก็เหมือนถูกหวยเลยทีเดียว ถึงไม่มีก็ไม่ยาก ถ้าคุณมีเงิน ในข่าวเขายกตัวอย่างของครอบครัวหนึ่งที่ตัดสินใจขายบ้านหลังใหญ่ ในย่านที่มีสภาพแวดล้อมยอดเยี่ยม เพื่อนำเงินมาซื้ออพาร์ตเมนต์ในเขตเดียวกับโรงเรียนที่หมายตาไว้ให้ลูก ซึ่งจะเข้าโรงเรียนในอีก 3 ปีข้างหน้า (กฎของเมืองเซี่ยงไฮ้กำหนดให้เด็กต้องมีชื่อเป็นผู้อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนอย่างน้อย 3 ปี) แต่คุณต้องทำใจ เพราะที่อยู่อาศัยในเขตเดียวกับโรงเรียนดังนั้นจะมีราคาแพงกว่าที่อยู่นอกเขตเป็นเท่าตัว และยังไม่นับว่าสภาพก็ค่อนข้างจะย่ำแย่ด้วย อพาร์ตเมนท์ขนาด 28 ตารางเมตร ที่ครอบครัวนี้ตัดสินใจซื้อนั้น แม้จะอายุ 30 ปีแล้ว ก็ยังขายได้ราคาประมาณ 250,000 บาท (50,000 หยวน) ต่อตารางเมตร ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่เหล่าก็ยินดีจ่ายโดยไม่ลังเล เพราะช้าเดี๋ยวหมดแล้วลูกจะอดเรียน ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจีนมีคอนโดสร้างใหม่ที่ไม่มีใครไปซื้ออยู่ ... คงเป็นเพราะไม่มาสร้างในย่านที่มีโรงเรียนดีๆ นี่เอง     คนรุ่นใหม่เชิดใส่บัตรเครดิต เรากำลังพูดถึงคนอเมริกันในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวที่กลัวการเป็นหนี้ ข้อมูลจาก FICO (คล้ายๆ บริษัทเครดิตบูโรที่บ้านเรา) ระบุว่า คนอายุระหว่าง 18 – 29 นิยมไม่มีบัตรเครดิตกันมากขึ้น ข้อมูลปี 2012 ระบุว่ามีถึงร้อยละ 16 และหนี้บัตรเครดิตของกลุ่มอายุนี้ก็ลดลงด้วย เมื่อ 5 ปีก่อนเป็นหนี้เฉลี่ยคนละ 3,073 เหรียญ (95,500 บาท) ปีที่แล้วลดลงมาเหลือ 2,087 เหรียญ (65,000 บาท) ข่าวบอกว่าสาเหตุหนึ่งคือ พ.ร.บ.บัตรเครดิต ที่ประกาศใช้เมื่อสี่ปีที่แล้วนั้นทำให้คนอายุต่ำกว่า 21 ปีขอมีบัตรเครดิตได้ยากขึ้นกว่าเดิม และภาวะฝืดเคืองยังทำให้หนุ่มสาวอเมริกันเลือกที่จะไม่ซื้อรถเพราะต้องการเก็บเงินสำรองไว้ยามจำเป็น และไม่ใช้บัตรเครดิตเพราะกลัวว่าจะเมื่อมีปัญหาไม่สามารถชำระเงินได้ ก็จะถูกบันทึกประวัติ ทำให้ไม่สามารถขอกู้เงินในยามฉุกเฉิน และคนกลุ่มนี้ยังนิยมใช้การจ่ายเงินผ่านมือถือหรือการหักบัญชีธนาคารกันมากขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวก่อน ... แม้จะไม่มีหนี้บัตรเครดิต แต่หนุ่มสาวเหล่านี้กลับมีหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษามากขึ้น จากหนี้เฉลี่ยคนละ 6,500 เหรียญ (202,000 บาท) เมื่อ 5 ปีก่อน เพิ่มเป็น 11,500 เหรียญ (358,000 บาท) ในปี 2012   กีวีนิยมกินกล้วย สำนักงานสถิติแห่งชาติของนิวซีแลนด์ระบุว่า ผลไม้ที่ชาวกีวีนิยมซื้อหามารับประทานมากที่สุดคือกล้วยหอม สถิติระบุว่า ประชากรหนึ่งคนจะบริโภคกล้วยหอมปีละ 18 กิโลกรัม (หรือสัปดาห์ละ 2 ลูก) และแต่ละครัวเรือนจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องกล้วยๆ ไม่ต่ำกว่าปีละ 2,000 บาท แซงหน้าแอปเปิ้ลและส้ม ซึ่งมียอดซื้ออยู่ที่ 1,500 และ 650 บาท ต่อครัวเรือนต่อปีไปขาดลอย อาจเป็นเพราะผู้คนรู้สึกว่ากล้วยเป็นอาหารที่คุ้มค่าเงินที่สุด ในขณะที่ราคาอาหารในนิวซีแลนด์พากันขึ้นราคาเป็นสามเท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา กล้วยหอมมีราคาเพิ่มจากเดิมเพียงสองเท่าเท่านั้น (จาก 34 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 68 บาท) แถมกล้วยหอมยังเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง ถูกใจคนที่ต้องการอิ่มท้องแต่ไม่ต้องเสียเงินมากอีกด้วย แต่ขอบอกว่านิวซีแลนด์ไม่ได้ปลูกกล้วยหอมเองเลย เขาต้องพึ่งพากล้วยหอมนำเข้าจากเอกวาดอร์และฟิลิปปินส์ ความต้องการเยอะขนาดนี้ เกษตรกรไทยสนใจจะปลูกไปขายเขาบ้างไหม?     ระวังผู้ติดตาม แม้ปัจจุบันการมีผู้ติดตาม หรือ Follower ในเว็บโซเชียลทั้งหลายจะไม่ใช่เรื่องใหม่และเป็นสิ่งที่หลายคนปรารถนาจะมีให้มากไว้ แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากคนอเมริกันจะถูกรัฐบาลแอบฟังเป็นประจำแล้ว (ตามที่เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนออกมาแฉ) แล้ว พวกเขายังเป็นเป้าหมายการติดตามของบรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากมหาวิทยาลัยเซาท์เธิร์นแคลิฟอเนีย พบว่ามีคน “อยากรู้ว่าคุณอยากรู้อะไร” เพื่อนำไปประเมินหรือตีความว่าสุขภาพร่างกายจิตใจของคุณปกติดีหรือไม่ นักวิจัยทดลองใส่คำค้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ อย่าง “โรคซึมเศร้า” หรือ “มะเร็ง” ลงไปในเว็บไซต์ด้านสุขภาพ เช่น เว็บของสถาบันสุขภาพ องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ WebMD และ Weight Watcher แล้วใช้ซอฟต์แวร์ฟรี DoNotTrackMe และ Ghostery ตรวจจับว่าบุคคลที่สาม (Third Party) ในเว็บไซต์ที่เข้าไปมีใครบ้าง แล้วใช้ซอฟท์แวร์อีกตัวหนึ่งตรวจหาว่ามีการส่งต่อข้อมูลจากเว็บนั้นไปยัง Third Party ด้วยหรือไม่ ผลคือทุกเว็บที่สำรวจต่างก็มี “บุคคลที่สาม” และมีอยู่ 13 จากทั้งหมด 20 เว็บที่คอยติดตามข้อมูลผู้ใช้ สำคัญที่สุดคือมี 7 เว็บจาก 20 เว็บที่ส่งต่อข้อมูลการค้นหาของคุณออกไปให้คนอื่น ทั้งนี้ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า เว็บไซต์ต่างๆ ยังสามารถทำอย่างนี้ได้ก็เพราะกฎหมายของอเมริกายังไม่ชัดเจนเรื่องการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้นั่นเอง นักวิจัยเตือนว่า การถูกเปิดเผยว่าเรากำลังวิตกกับอาการเจ็บป่วยอะไรนั้นไม่ได้แค่ทำให้เราอับอาย แต่มันหมายถึงเราอาจถูกปฏิเสธโอกาสในการได้งานทำด้วย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 กระแสต่างแดน

บริการไม่เข้าป้ายฟังแล้วเฉยไว้ อย่าไปอิจฉาเขา … รถไฟที่อิตาลีเขามีการตรวจสอบคุณภาพกันอย่างสม่ำเสมอโดยองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รถไฟวิ่งผ่านล่าสุดแคว้นทัสคานีเขาตรวจสอบแล้วได้ความว่าต้องสั่งปรับบริษัทเทรนอิตาเลียหรือการรถไฟอิตาลี เป็นเงิน 644,000 ยูโร (25 ล้านบาท) โทษฐานที่ฝ่าฝืนสัญญาจ้างหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่การไม่จัดจำนวนตู้โดยสารให้เพียงพอกับจำนวนคน ไม่แจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคเมื่อขบวนรถเกิดการล่าช้า ไม่มีป้ายหรือสัญลักษณ์ที่เพียงพอในตัวสถานี ไปจนถึงเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด หรือระบบปรับอากาศไม่ทำงาน เป็นต้นนี่คือผลจากการตรวจทั้งหมด 14,000 ครั้ง เมื่อปีที่แล้ว แต่เท่านั้นยังไม่พอ รฟต. ยังถูกปรับเพิ่มอีก 4,000 ยูโร (150,000 บาท) เพราะไม่ยอมรับโทรศัพท์สายด่วนสำหรับร้องเรียนบริการ ปิดท้ายขบวนด้วยเรื่องความล่าช้าหรือยกเลิกการเดินทาง ที่ทำให้เทรนอิตาเลียโดนปรับเพิ่มอีก 4.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 160 กว่าล้านบาท (นี่ขนาดสถิติการตรงเวลาเขาอยู่ที่ร้อยละ 90 นะ)สาเหตุของความล่าช้านั้น ข่าวบอกว่าเป็นเพราะความหนาแน่นที่สถานีฟลอเรนซ์ ตั้งแต่เริ่มมีระบบรถไฟความเร็วสูงในปี 2008 มาจนบัดนี้ การประสานงานเชื่อมต่อของรถไฟทั้งสองประเภทก็ยังไม่ลงตัวอ้าว ... ตกลงว่าถ้ามีรถไฟความเร็วสูงแล้ว รถไฟธรรมดาๆ จะต้องใช้เวลามากขึ้นหรือนี่ ?!! เสื้อผ้าดีๆมีที่ไหน? ถ้าผู้บริโภคต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการซื้อเสื้อผ้าที่ผลิตจากโรงงานที่มีสภาพการทำงานที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อลูกจ้าง เขาหรือเธอจะไปช้อปที่ไหน? อุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ  แต่คุณทราบหรือไม่ว่ามีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ที่เป็นการผลิตเสื้อผ้าด้วยกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน “จริยธรรม” จริงๆ ยกตัวอย่างที่บังคลาเทศเอง ซึ่งอุตสาหกรรมนี้มีมูลค่าถึง 20,000 ล้านเหรียญ โรงงานส่วนใหญ่ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีทางหนีไฟ และมีความเสี่ยงที่จะถล่มลงมา ตัวอย่างเช่น ตึกรานา พลาซ่า ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 700 คน เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตึกดังกล่าวมีโรงงานผลิตเสื้อผ้าอยู่ทั้งหมด 5 โรง ที่ผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ จากสหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ อิตาลี เสปน เยอรมนี และเดนมาร์ค ความจริงแล้วแบรนด์เหล่านี้ได้กำหนดมาตรฐานโรงงานไว้แล้ว ขาดแต่การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะการตรวจสอบโรงงานในต่างประเทศจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และที่สำคัญคือยังไม่ได้รับแรงกดดันมากพอจากผู้บริโภค แต่อุบัติเหตุครั้งใหญ่ๆ ที่ผ่านมา ก็ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการค้าปลีกเสื้อผ้าอยู่บ้าง เช่น วอลมาร์ท ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศเมื่อเดือนมกราคมว่าจะยกเลิกสัญญากับโรงงานที่ไม่ผ่านการตรวจสอบทันทีที่พบว่าฝ่าฝืนข้อตกลง (เปลี่ยนจากของเดิมคือแค่ตักเตือน) หรือกรณีของบริษัท The Gap ก็บอกว่าจะจ้างเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบเรื่องของความเสี่ยงไฟไหม้ให้กับโรงงานที่รับจ้างผลิตเสื้อผ้าของบริษัททั้งหมดในบังคลาเทศ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีเจ้าไหนยินดีลงนามรับข้อเสนอขององค์กรพัฒนาเอกชนและสหภาพแรงงานบังคลาเทศที่ต้องการยกระดับความปลอดภัยของโรงงานผลิตเสื้อผ้าในบังคลาเทศ เพราะเท่ากับเป็นการผูกมัดให้บริษัทต้องรับผิดเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้รวมถึงต้องจ่ายเงินเพื่อการซ่อมแซมโรงงานด้วย เรื่องนี้ยังต้องติดตามตอนต่อไป .. แต่การระบุสถานที่ผลิตไว้ในฉลากสินค้าก็น่าจะช่วยให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริโภคได้บ้าง หรือว่านี่ก็ทำให้ต้นทุนเพิ่มอีก?   อวสานธุรกิจกระดาษ? การรณรงค์ลดการใช้กระดาษในประเทศฟินแลนด์เขาได้ผลจริงๆ หลักฐานคือการปรับตัวขนานใหญ่ของอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ อุตสาหกรรมนี้จ้างแรงงานถึง  40,000 คน และนี่คือตัวเลขที่ลดลงไป 3 เท่าแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปัญหานี้มีกันทั่วยุโรป เมื่อธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่นิตยสาร ไปจนถึงตั๋วเครื่องบิน พากันทำทุกอย่างโดยไม่ง้อกระดาษ UPM-Kymmene Corp ผู้ผลิตกระดาษสำหรับแม็กกาซีนเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก ลดการผลิตลงไป 850,000 ตันในปีนี้ ซึ่งการลดกำลังการผลิตลงร้อยละ 7 นี้ส่งผลกระทบต่อ โรงงานทั้งในฟินแลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส ส่วน Stora Enso เจ้าใหญ่อีกรายหนึ่งก็ประกาศลดกำลังผลิตลงมาเหลือ 475,000 ตัน ทำให้ต้องปิดโรงงานในสวีเดนไป 2 โรง แต่เดี๋ยวก่อน ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไป บริษัท UPM หันมาเอาดีทางด้านพลังงานทางเลือก ด้วยการลงทุน 150 ล้านยูโรสร้างโรงกลั่นแห่งแรกของโลกที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันที่เป็นผลพลอยได้จากการนำต้นสนมาผลิตกระดาษ และเพราะความต้องการใช้กระดาษที่อื่นๆในโลกไม่ได้ลดลงเหมือนที่ฟินแลนด์ UPM จึงไปลงทุนสร้างโรงงานกระดาษในประเทศจีน เช่นเดียวกับ Stora Enso ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระดาษกล่อง ในมณฑลกวางสี และร่วมทุนกับบริษัทจากชิลีเปิดโรงงานกระดาษในอุรุกวัย เป็นต้น   ประหยัดได้อีก จุดขายของรถนาทีนี้ ไม่มีอะไรแรงไปกว่าเรื่องของการประหยัดน้ำมันอีกแล้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าระยะทางที่วิ่งได้ต่อน้ำมันหนึ่งแกลลอนนั้นเป็นไปตามที่โฆษณาไว้หรือไม่? บังเอิญว่านิตยสารผู้บริโภคของอังกฤษ Which? เขามีทุนมากพอจะทดสอบได้ เลยพบข้อมูลที่น่าสนใจทีเดียว Which? ทดสอบรถเล็ก 2 รุ่น ที่อ้างว่าประหยัดน้ำมัน ได้แก่ ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ และ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 และพบว่า ฟอร์ด เฟียสต้า 1.0 อีโคบู๊สต์ วิ่งได้น้อยกว่าที่โฆษณาไว้ถึง 9.2 ไมล์ต่อแกลลอน (โฆษณาบอกว่า วิ่งได้ 76.4 mpg สำหรับนอกเมือง แต่การทดสอบของ Which? พบว่าวิ่งได้ 65.7 mpg เท่านั้น) และค่าเฉลี่ยสำหรับการวิ่งในเส้นทางทุกประเภทอยู่ที่ 56.5 ไมล์ต่อแกลลอน ไม่ใช่ 65.7 เหมือนที่อ้างด้วย เมื่อลองคำนวณดู โดยใช้ราคาน้ำมันในปัจจุบัน และสมมุติระยะทางใช้รถไว้ที่ 12,000 ไมล์ต่อปี ก็หมายความว่า รถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึง 185 ปอนด์ (ประมาณ 8,400 บาท) ต่อปี เช่นเดียวกับ เรโนลด์ คลิโอ 0.9 TCE 90 ที่วิ่งได้น้อยกว่าโฆษณา 8.5 ไมล์ต่อแกลลอน ซึ่งหมายความว่าเจ้าของรถรุ่นนี้จะต้องใช้เงินค่าน้ำมันเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ถึงปีละ 186 ปอนด์ (ประมาณ 8,450 บาท) Which? ยืนยันว่าวิธีการทดสอบของเขาใกล้เคียงกับการใช้รถจริงมากกว่าการทดสอบของ EU ด้วย   ทำงานที่นี่มีความสุข ความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่ไต้หวันเขามีมุมมองใหม่ เขาจะใช้มันเพื่อเพิ่มระดับความสุขให้คนในประเทศ รัฐบาลไต้หวันให้ความเชื่อมั่นว่าถ้าคุณมีงานทำ คุณก็จะมีความสุข อย่างน้อยก็ใน 1,600 บริษัทที่ร่วมลงนามใน “คำประกาศว่าด้วยความสุขในที่ทำงาน” ร่วมกับหน่วยงานของรัฐ 6 กระทรวง กระทรวงเศรษฐกิจเขาบอกว่ารัฐบาลต้องการลดความเครียดของผู้คนในช่วงเศรษฐกิจขาลง และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการทำ “ดัชนีความสุขในที่ทำงาน” ด้วย เขาเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นหลัก ตั้งแต่การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม การทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การคืนกำไรให้กับสังคมและร่วมดูแลผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงาน การมีพื้นที่ทำงานที่สะดวกสบาย มีโอกาสได้รับการจ้างงานและได้รับความก้าวหน้าเท่าเทียมกัน มีเงินช่วยเหลือหลังเกษียณ ฯลฯ และต้องให้พนักงานได้มีสมดุลระหว่างเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว มีวันหยุดเพียงพอ เลือกชั่วโมงทำงานได้ ฯลฯ  ที่สำคัญที่สุดคือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะความสุขจะกระจายออกไปถึงผู้บริโภคหรือพลเมืองทุกคนนั่นเอง //

อ่านเพิ่มเติม >