ฉบับที่ 166 กระแสต่างแดน

เมาได้... แต่จ่ายด้วยทุกปีในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เมืองออลีนส์ ประเทศฝรั่งเศส จะมีคนถูกตำรวจจับ 250 ถึง 300 คนเพราะเมาแล้วสร้างความไม่สงบหรือสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพื่อจับตาดูพฤติกรรมของพวกที่เมาข้ามปี เทศบาลเขาต้องจ้างตำรวจพร้อมรถลาดตระเวนเพิ่มเป็นพิเศษ ปัญหาคือ ใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมถึงค่าจ้างหน่วยกู้ภัย หรือรถพยาบาลด้วยคิดสะระตะแล้ว เทศบาลเมืองนี้จึงออกประกาศให้นักดื่มได้ทราบโดยทั่วกันว่า พวกเขาอาจโดนเรียกเก็บค่าปรับ 120 ยูโร(เกือบ 5,000 บาท) ถ้าถูกพบเห็นว่าออกมาเดินเปะปะตามถนนค่าปรับนี้รวมเฉพาะค่ารถพยาบาลและรถตำรวจ ถ้าต้องเรียกหมอมาดูอาการด้วย เขาก็จะคิดเพิ่มเป็น 150 ยูโร (ประมาณ 6,000 บาท) แต่ไม่ใช่แค่เสียค่าปรับแล้วจบนะ บางรายยังได้แถมโทษจำคุกอีกสาธารณสุขของฝรั่งเศสยอมรับว่าปัจจุบันเยาวชนหันมาเป็นนักดื่มมากขึ้น และไม่ใช่ดื่มแบบค่อยเป็นค่อยไป พวกนี้รีบดื่มรีบเมาตามกระแสยอดฮิตจากเกมออนไลน์ เน็คนอมิเนชั่น (Neknomination)ร่างกฎหมายใหม่จึงเสนอให้ผู้ที่ชักชวนบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ดื่มแอลกอฮอล์ มีโทษจำคุก 1 ปี และโทษ 15,000 ยูโร(ประมาณ 609,000 บาท)  เขียวได้อีก การมีโรงผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ในยุโรปนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่กรุงเวียนนานี่เขาล้ำไปอีกขั้นด้วยการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นแหล่งอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตหายาก เช่น ตั๊กแตน จิ้งหรีด หอยทาก จิ้งเหลน แมงมุม แมงเม่า แมลงเต่าทอง (ยุโรปเขาหายากจริงนะ)นอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับบ้าน 400 หลังคาเรือนแล้ว พื้นที่ประมาณ 2 สนามฟุตบอลของโซล่าฟาร์มแห่งนี้ยังเป็นที่อยู่ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ใกล้สูญพันธุ์อีกด้วยการทำให้ฟาร์มนี้น่าอยู่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะร่มเงาและช่องว่างระหว่างแผงมีเหลือเฟือ ที่ต้องเพิ่มคือเทคนิคการตัดหญ้าแบบไม่ธรรมดาที่คงความน่าอยู่สำหรับสัตว์หรือแมลงเล็กๆ เหล่านั้นเวียนนามุ่งมั่นจะเป็นมหานครสีเขียว ซีอีโอของโซล่าฟาร์มแห่งนี้บอกว่า 5 ปีจากนี้ไป บริษัทจะลงทุนเพิ่มอีก 800 ล้านยูโร (ประมาณ 32,600 ล้านบาท) และเกินครึ่งของเงินดังกล่าวจะใช้เพื่อการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สมาคมสิ่งแวดล้อมออสเตรียกล่าวว่า ร้อยละ 55 ของพื้นที่หลังคาในเวียนนาสามารถรองรับการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ได้ ชาวเวียนนาสามารถซื้อแผงโซล่าเซลล์จากบริษัทได้คนละ 10 แผง ในราคาแผงละ 950 ยูโร (ประมาณ 40,000 บาท) จากนั้นให้บริษัทเช่าแผงดังกล่าวในราคา 29.45 ยูโร (1,200 บาท) ต่อแผงต่อปี เป็นเวลาอย่างต่ำ 5 ปี และเมื่อครบ 25 ปี บริษัทจะซื้อแผงคืนทั้งหมด ถอนทุนลดโลกร้อน โครงการสร้างท่าเรือน้ำลึกแอบบ็อต พอยนท์ ในรัฐควีนส์แลนด์ เพื่อรองรับการขนส่งถ่านหิน เป็นที่ถกเถียงกันมากเพราะมันอาจเป็นผลเสียต่อแนวปะการัง “เกรท แบเรีย รีฟ” ที่คนทั้งโลกรู้จัก เนื่องจากเป็นโครงการ “ร้อน” บรรดาธนาคารข้ามชาติ (เช่น ซิตี้กรุ๊ป เจพีมอร์แกนเชส ดอยท์ชแบงค์ โกลด์แมนแซคส์ และเอชเอสบีซี) ต่างก็พากันถอนตัวจากการให้กู้ แต่ธนาคารสัญชาติออสเตรเลีย 4 แห่ง ได้แก่ เนชั่นแนลออสเตรเลีย คอมมอนเวลท์ เอเอ็นเซด และเวสแพค กลับตัดสินใจปล่อยกู้ให้กับโครงการนี้ รวมๆ แล้ว ธนาคารเหล่านี้ให้เงินกู้กับธุรกิจพลังงานฟอสซิลไปกว่า 19,000 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ไม่ต่ำกว่า 500,000 ล้านบาท) แล้ว ลูกค้าที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการลงทุนของธนาคารจึงพากันไปปิดบัญชี แล้วย้ายไปอยู่กับธนาคารที่มีพฤติกรรมการให้กู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ถึงวันนี้มีคนมาปิดบัญชีไปแล้วเป็นมูลค่า 450 ล้านเหรียญ (12,000 ล้านบาท) นักวิเคราะห์บอกว่า คนกลุ่มนี้น่าจะคิดถูกแล้ว เพราะแม้ว่าออสเตรเลียจะเป็นผู้ส่งออกถ่านหินรายใหญ่อันดับสองของโลกและกำลังเปิดเหมืองเพิ่มอีก 120 แห่ง แต่ทั้งราคาถ่านหินกำลังและความต้องการใช้ถ่านหินกลับน้อยลง จีนซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียก็มีแผนจะปิดโรงงานถลุงเหล็กเพื่อลดมลภาวะในประเทศ ภาคการเงินการธนาคารเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจขนาด 15,000 ล้านเหรียญ (405,000 ล้านบาท) ของออสเตรเลีย และยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ก็อยู่ในกลุ่มธนาคารที่ทำกำไรได้มากที่สุดในโลก เพราะสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากจากผลตอบแทนที่สูง เงินอย่างเดียวไม่พอ เวเนซูเอล่ามีรายได้จากการขายน้ำมันถึง 114,000 ล้านเหรียญ (3,700,000 ล้านบาท) ต่อปี แต่ประชากรในประเทศกลับขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค สถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐบาลต้องจำกัดการซื้อเหมือนที่คิวบาและเกาหลีเหนือ ก่อนเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ลูกค้าจะต้องถูกสแกนนิ้วมือ (บางร้านใช้บัตรประจำตัวประชาชน) เพราะรัฐต้องการควบคุมไม่ให้เกิดการซื้อเกินหนึ่งรอบต่อวัน ใครต้องการซื้อผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ต้องนำสูติบัตรของลูกมาแสดงด้วย หรือสินค้าที่มีค่าดั่งทอง อย่างนมผง รัฐก็กำหนดให้ซื้อได้สัปดาห์ละ 1 กิโลกรัมเท่านั้น รัฐบาลบอกว่ามาตรการสแกนนิ้วมือนี้ออกมาเพื่อดัดหลังพวกที่ซื้อสินค้าควบคุมราคาเหล่านี้แล้วนำข้ามชายแดนไปขายทำกำไรที่ประเทศโคลัมเบีย ประธานาธิบดีของเขาให้ข้อมูลว่าร้อยละ 40 ของสินค้าจากเวเนซูเอลาไปปรากฏตัวอยู่ในตลาดโคลัมเบีย (... แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าร้อยละ 10 นะ) เรื่องของเรื่อง เวเนซูเอลาประกาศให้สินค้าจำเป็นหลายชนิดเป็นสินค้าควบคุมราคา เช่น นม น้ำมัน ข้าว เนื้อไก่ กาแฟ ยาสีฟัน และผงซักฟอก แต่ปัจจุบันร้านค้าต่างๆ กลับมีของเหล่านี้เพียงร้อยละ 30 ของสต็อคปกติเท่านั้น และด้วยเหตุผลเดียวกัน รัฐบาลอนุญาตให้เติมน้ำมันได้ไม่เกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยควบคุมผ่านบาร์โค้ดที่กระจกหน้ารถ เพราะกลัวน้ำมันจะไหลไปที่โคลัมเบียหมด น้ำมันที่เวเนซูเอล่าราคาไม่ถึง 1 เซนต์ต่อแกลลอน แต่ถ้าในโคลัมเบียที่ชายแดนติดกันนั้น น้ำมันราคาเกือบ 4.5 เหรียญต่อแกลลอน) ยังไม่หมดนะ รัฐบาลเขาควบคุมการ “ใช้” น้ำด้วยการหยุดปล่อยน้ำสัปดาห์ละ 108 ชั่วโมงด้วย ทั้งนี้ชาวบ้านบอกว่า การควบคุมพวกนี้ไม่เห็นจะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนได้ตรงไหน จริงๆ แล้วควรยกเครื่องเศรษฐกิจทั้งประเทศต่างหาก ลดเปลือก ปีหนึ่งๆ สินค้าต่างๆ ถูกบรรจุอยู่ในหีบห่อซึ่งมีน้ำหนักรวมกันกว่า 207 ล้านตัน และถ้ายังไม่มีความพยายามใดๆ เพิ่มเติม บวกกับกำลังซื้อของคนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและพฤติกรรมใช้ของอย่างไม่ค่อยคุ้มค่าของผู้บริโภค การใช้บรรจุภัณฑ์จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 47 เมื่อถึงปี 2025 ตัวเลขนั้นอาจคิดตามยาก เอาเป็นว่า 1 ใน 3 ของขยะในเมืองหลวงก็คือบรรจุภัณฑ์นั่นเอง บรรดาบริษัทผู้ผลิตก็กำลังหาทางลดเจ้าหีบห่อพวกนี้ด้วยการออกแบบให้ใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็น เพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยการจัดซื้อวัตถุดิบน้อยลงและเสียค่าขนส่งน้อยลง เช่น ซิสโก้สามารถลดบรรจุภัณฑ์ลงได้ 855,000 กิโลกรัม เดลล์ก็หันมาใช้ฟางและวัสดุที่ทำจากเห็ดเป็นตัวกันกระแทกในกล่องชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ แม้แต่ยูนิลิเวอร์ก็ให้คำมั่นว่าจะลดบรรจุภัณฑ์ลงให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2020 หรือแม้แต่ขวดแก้วบรรจุเครื่องดื่มก็กำลังจะเปลี่ยนโฉมไป เราจะได้เห็นขวดรูปร่างผอมสูงกันมากขึ้น เพราะมันใช้วัตถุดิบในการผลิตน้อยกว่าขวดเตี้ยสั้น แถมมีน้ำหนักเบากว่าด้วย การออกแบบบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะเน้นการมีมากกว่าหนึ่ง “ชีวิต” เพื่อส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ แต่เป้าหมายสูงสุดคือการไม่ต้องผลิตมันออกมาแต่แรกนั่นเอง เพราะมันดีกว่าการตามไปเก็บตอนหลังเห็นๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 กระแสต่างแดน

บำบัดแบบโมบายผู้ประกอบการให้บริการแท็กซี่ Taxi Stockholm ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใช้บริการแท็กซี่ และพบว่ากว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าบอกว่า ช่วงเวลาการนั่งแท็กซี่เป็นเวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดอะไรต่ออะไรไปเรื่อย แล้วก็เล่าให้คนขับฟัง เขาเลยเชื่อว่าน่าจะส่งนักจิตบำบัดออกไปนั่งประจำในรถแท็กซี่ เพื่อให้คำปรึกษากับผู้ใช้บริการที่อยากได้ใครสักคนคุยด้วยขณะนั่งรถเสียเลย โดยเขาจะทดลองให้บริการนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์  ซึ่งเขาคาดว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้ดีในเมืองที่ทั้งหนาว ทั้งขาดแสงอาทิตย์อย่างสต็อกโฮล์ม ในช่วงปลายปีอย่างนี้ มีอา ฟาเลน หนึ่งในนักจิตบำบัดในโครงการนี้บอกว่า เธอรับงานนี้เพราะรู้สึกว่ามันท้าทายและน่าจะทำให้เธอได้พบกับโจทย์การทำงานใหม่ๆ แต่กระนั้นเธอบอกว่า พอจะเดาได้ว่าผู้คนในเมืองนี้คงมีปัญหาคล้ายๆ กัน คือโรคเหงากำเริบ เพราะคนที่นี่ส่วนใหญ่อยู่คนเดียว คนจากประเทศอื่นที่เข้ามาทำงานหรือมาใช้ชีวิตในเมืองนี้ก็มีปัญหาในการปรับตัวเช่นกัน เธอบอกว่าที่นี่อยู่ยาก เพราะคนสวีเดนเขาเงียบเฉยมากๆ เลยนะจะบอกให้ การโทรเรียกแท็กซี่บำบัดนั้น ถูกกว่าการไปพบนักจิตบำบัดที่คลินิก ซึ่งปกติมีค่าบริการครั้งละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และที่สำคัญในช่วงเวลาแค่ 10 นาทีบนรถ นักจิตบำบัดก็รู้ถึงปัญหาและสามารถให้คำแนะนำกับผู้ป่วย เอ้ย ... ผู้โดยสารให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือทัศนคติบางอย่างให้ชีวิตดีขึ้นได้ แท็กซี่ สต็อกโฮล์ม ยืนยันว่าความลับจะไม่รั่วไหล เพราะคนขับเขาเซ็นสัญญาไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ใช้บริการไว้แล้ว สปาไม่น่าปลื้ม เรื่องร้องเรียนต่อธุรกิจสปาและธุรกิจเสริมความงามในสิงคโปร์ก็มีมากไม่แพ้บ้านเราเหมือนกัน ข่าวบอกว่าความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมการประกอบธุรกิจดังกล่าวยังไม่เป็นผล สองปีที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนกว่า 2,000 เรื่อง แต่ตัวเลขนี้น่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังไม่ได้มาร้องเรียนกับ CASE (Consumers Association of Singapore) หรือสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์ แต่ที่แน่ๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีกรณีร้องเรียนถึง 227 กรณี (เทียบกับ 199 กรณีในปีที่แล้ว) และเรื่องที่ร้องก็หนีไม่พ้นเทคนิคการขายแบบ “ฮาร์ดเซล” ที่ลูกค้าจะต้องถูกต้อนเข้ามุมให้ซื้อบริการ คุณภาพงานบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ไปจนถึงการปิดกิจการลงไปเฉยๆ ข่าวบอกว่า ปัญหาหลักๆ มาจากระบบการขึ้นทะเบียนพนักงานผู้ให้บริการ ที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง เนื่องจากสถานประกอบการจะต้องขึ้นทะเบียนพนักงานก่อน จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบกิจการจากตำรวจ แต่การปฏิบัติตามกฎดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการจ้างบุคลากรจากต่างประเทศ และการกำกับดูแลค่อนข้างหละหลวม กิจการที่ไม่ขึ้นทะเบียนลูกจ้างจึงยังเปิดกันได้ทั่วไป และถ้าถูกจับได้ก็เสียค่าปรับแค่ประมาณ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 25,000 บาท) เท่านั้น น้ำฟรีต้องมีบ้างนักการเมืองพรรคสังคมนิยมของสวิสเซอร์แลนด์ กำลังผลักดันกฎหมายใหม่ ห้ามไม่ให้ร้านอาหารคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งไม่น่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย เพราะเปิดมากจากก๊อกน้ำ ปัจจุบันมีบางร้านคิดค่าน้ำเปล่า ซึ่งทำให้ลูกค้าก็รู้สึกไม่คุ้ม จะเสียเงินทั้งทีขอสั่งเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มรสหวานแทนดีกว่า (ซึ่งไม่น่าจะดีต่อสุขภาพเท่าการดื่มน้ำเปล่า) ด้านสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ยืนยันว่าให้แต่ละร้านมีสิทธิตัดสินใจเองดีกว่า เพราะปัจจุบันมีบางร้านที่ต้องทำอย่างนั้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เขายกตัวอย่างร้านพิซซาแห่งหนึ่ง ที่ต้องพึ่งพารายได้จากเครื่องดื่มถึงร้อยละ 75 และทางร้านก็คิดค่าน้ำเปล่าเหยือกละ 85 บาทเท่านั้น แถมยังยกเว้นให้กับนักเรียน นักศึกษาด้วย ตามธรรมเนียมของร้านอาหารในเมืองเจนีวานั้น ถ้าคุณอยากได้น้ำธรรมดา ต้องบอกเขาให้ชัดๆ มิเช่นนั้นทางร้านจะถือว่าคุณต้องการน้ำแร่บรรจุขวด ไม่ต้องรู้สึกอายใครที่จะสั่งน้ำธรรมดาที่ไขมาจากก๊อก เพราะบริษัท SIG ผู้จัดหาแก๊ส ไฟฟ้า และน้ำประปาให้กับประชากรเมืองนี้เขายืนยันว่า น้ำของเขาซึ่งได้จากทะเลสาบเจนีวานั้นคุณภาพดีกว่าน้ำแร่ด้วยซ้ำ  เสี่ยงทั้งภูมิภาค ถ้าถามผู้คนในละตินอเมริกาว่ากลัวอะไรมากที่สุด จะได้รับคำตอบว่ากลัวโดนปล้น โดนฆ่าโดยแก๊งค์โจร แก๊งค์ค้ายาเสพติด แต่คุณเชื่อหรือไม่ว่าในอุรุกวัย (ซึ่งเป็นประเทศที่จัดว่าปลอดภัยที่สุดในละตินอเมริกา) ความเป็นไปได้ที่จะประสบอุบัติเหตุทางถนนมีมากกว่าการถูกปล้นด้วยซ้ำ ในอาร์เจนตินา อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนอายุต่ำกว่า 32  ในขณะที่ “รถเมล์นรก” ก็มีอยู่เต็มท้องถนนในเมืองลิมาประเทศเปรู และรถเก่าๆ ทั้งจากอเมริกาและรัสเซียตั้งแต่ยุคสงครามเย็นที่ยังถูกใช้อยู่ในคิวบา ก็มีส่วนเพิ่มอัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่น้อย ในการากัส เมืองหลวงของเวเนซูเอล่า กว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็คือผู้โดยสารที่ใช้บริการ “โมโตแท็กซี่” (คล้ายกับพี่วินที่บ้านเรา ต่างกันตรงที่เขานิยมนั่งซ้อนมากกว่าหนึ่งคน บางทีมากันทั้งครอบครัวพร้อมสัมภาระ และไม่มีใครใส่หมวกกันน็อคอีกต่างหาก) สัญญาณไฟจราจรที่นี่ไม่มีความหมาย ไม่มีใครเคารพการจำกัดความเร็วหรือชะลอเมื่อถึงบริเวณทางม้าลาย สิทธิของคนเดินเท้าในภูมิภาคนี้เรียกได้ว่าตกต่ำถึงขีดสุด แม้อุบัติเหตุจากการจราจรจะสูงกว่าอาชญากรรมนั่นคือ ในประชากร 100,000 คนจะมี 16 คนที่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุบนท้องถนน (อ้างอิงสถิติปี 2013) แต่ประชากรในภูมิภาคนี้เขาก็ยังไม่นับความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินอยู่นั่นเอง ขอหักมุมมาที่ประเทศไทยบ้าง สถิติของเราคือ 38.1 คนต่อประชากร 100,000 คน (สถิติปี 2010) หนักหนากว่าเขาอีกนะนี่ ...  ประหยัดเกินจริงฮุนได มอเตอร์ และเกีย มอเตอร์ ถูกศาลสหรัฐฯ สั่งปรับเป็นมูลค่ารวมกันกว่า 300 ล้านเหรียญ โทษฐานที่แจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันเกินจริงในรถกว่า 1,200,000 คัน ซึ่งถือเป็นการฝ่าฝืน “กฎหมายอากาศสะอาด” ของสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาสองบริษัทนี้โฆษณาว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่วิ่งได้ไกลกว่ารถยนต์ของคู่แข่งด้วยน้ำมันในปริมาณเท่ากัน แต่ในปี 2012 ทั้งฮุนไดและเกียซึ่งอยู่ภายใต้บริษัทแม่ ฮุนได มอเตอร์กรุ๊ป ออกมายอมรับว่าตนเองแจ้งข้อมูลการประหยัดน้ำมันสูงเกินจริงในรถที่จำหน่ายในสหรัฐฯ ในช่วงสองปีก่อนหน้านั้น (แจ้งพลาดไปถึง 6 ไมล์ต่อแกลลอน)การยอมรับนี้เกิดขึ้นหลังจากสำนักงานสิ่งแวดล้อม (EPA) เข้ามาตรวจสอบเนื่องจากมีผู้บริโภคร้องเรียนมาว่า รถที่ซื้อไปไม่เห็นจะวิ่งได้ไกลเท่าที่แจ้งไว้บนสติ๊กเกอร์บนกระจกรถเลย บริษัทออกมาขอโทษในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทดสอบที่ทำขึ้นกับรถฮุนได อิลันทรา และเกีย ริโอ กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ผลิตจะต้องทดสอบอัตราการใช้เชื้อเพลิงของรถแต่ละรุ่น และติดสติ๊กเกอร์แสดงให้ผู้บริโภคได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ  ที่ผ่านมาบริษัททำการทดสอบทั้งหมดในประเทศเกาหลี แต่คำตัดสินของศาลระบุว่า ต่อไปนี้การทดสอบจะต้องทำในห้องปฏิบัติการในสหรัฐฯ ที่สร้างขึ้นเพื่อทดสอบการใช้เชื้อเพลิงโดยเฉพาะ คำตัดสินนี้ได้รับเสียงชื่นชมจากองค์กรสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปถึงอุตสาหกรรมรถโดยรวม และเป็นก้าวสำคัญที่จะควบคุมให้รถรุ่นต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามที่โฆษณา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็ยืนยันว่าธุรกิจที่เล่นตามกฎกติกาไม่ควรจะต้องมาแข่งขันในเกมเดียวกับธุรกิจที่ละเมิดกฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสต่างแดน

Shonky Award 2014 เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วสำหรับรางวัลช้องค์กี้ หรือรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียจัดเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006  มาดูกันว่าปีนี้มีใครได้รางวัลนี้ไปครอบครองให้อับอายกันบ้าง   Commonwealth Bank of Australia รายแรกคือธนาคารคอมมอนเวลท์ ที่ดำเนินธุรกิจได้แสบสันคันจิต ปีที่ผ่านมามีลูกค้าหลายพันคนเอาเงินฝากไปลงทุน โดยผ่านการแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วก็ขาดทุนย่อยยับในที่สุด เมื่อทางการเข้ามาสอบสวนก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนนั้นจงใจนำเสนอบริษัทที่ “ให้ผลกำไรดี” (จากการคำนวณแบบมึนๆ ของเขาหรือเธอ) เมื่อความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลูกค้าก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ ในขณะที่คนที่แนะนำได้โบนัสไปเรียบร้อย เพื่อรักษาหน้าธนาคารรีบทำโฆษณาออกมาขอโทษลูกค้า แต่เบื้องหลังนั้นธนาคารยังคงแอบไปล็อบบี้คัดค้านการกำกับดูแลเรื่องการให้ข้อมูลการลงทุนกับผู้บริโภค ... แหม่ แต่ที่เด็ดสุดคือการออกมาแถลงผลประกอบการว่ามีกำไรถึง 8,000 ล้านเหรียญนี่สิ   Bankwest รายต่อไปเป็นธนาคารแบงค์เวสต์ ซึ่งอ้างว่าต้องการส่งเสริมให้เด็กรักการออม โครงการเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น โดยเด็กๆ มาฝากกันได้ด้วยเงินฝากขั้นต่ำเพียง 25 เหรียญต่อเดือน แต่ที่ไม่ได้บอกคืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 นั้นจะใช้เฉพาะช่วง 12 เดือนแรก และถ้าเดือนไหนมีการถอนเงินออกมาใช้ อัตราดอกเบี้ยในเดือนนั้นก็จะหดเหลือร้อยละ 0.01 และในปีต่อไปถ้ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 3,000 เหรียญ เด็กก็จะได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ธนาคารให้เหตุผลว่าทำแบบนี้เพื่อที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้น อยากเริ่มเก็บเงินใหม่ทุกปียังไงล่ะ องค์กรผู้บริโภคเขาแซวว่านี่ไม่ใช่การปลูกฝังนิสัยการออมให้เด็กแล้ว ... มันเป็นการสอนพวกเขาให้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารมากกว่า   S-26 Gold ไหนๆ ก็พูดถึงเด็ก ขอแวะมาที่ผลิตภัณฑ์ช้องค์กี้รายต่อไป ได้แก่ เอส 26 โกลด์ นมผงสำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบ/สองขวบขึ้นไป ที่อ้างซ้ำไปซ้ำมาในโฆษณาว่าช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน นักโภชนาการให้คำแนะนำว่าเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องดื่มนมนี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องลดการกินอาหารเหลว แล้วเริ่มหัดกินอาหารที่ต้องเคี้ยวตามพัฒนาการขั้นต่อไปของพวกเขา แต่แบรนด์นี้ก็ยังทำตลาดกับบรรดาพ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะ “ได้สารอาหารไม่ครบ” ต่อไป และยังเดินหน้ารังสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับพ่อแม่เหล่านี้ออกมาอีกหลายตัวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนมผงสำหรับเด็กในออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ ... ผู้ปกครองก็เป็นเหยื่อโฆษณาไม่แพ้เด็กนะนี่   บิสกิต Tim Tam ตามด้วยขนมที่กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างบิสกิตทิมแทม คราวนี้บริษัทอาน็อทเปิดตัวทิมแทม “กลิ่นเนยถั่ว” เมื่อเปรียบเทียบข้อความและรูปประกอบบนบรรจุภัณฑ์ กับส่วนประกอบแล้วคุณอาจจะงงนิดหน่อย เพราะไม่มี “เนยถั่ว” อยู่ในรายการ มีแต่ผงปาปริกาและสีผสมอาหารสี “คาราเมล” แต่นั่นยังไม่หมด ด้วยราคาเดียวกันและขนาดที่เท่ากันกับทิมแทมรสดั้งเดิม ในซองของเจ้าทิมแทมรสใหม่นี้จะมีปริมาณขนมน้อยลงจากเดิม 35 กรัม หรือ 2 ชิ้นอีกด้วย...     ชุดว่ายน้ำ Kmart กินขนมแล้วมาออกกำลังกายกันบ้าง คนออสซี่ที่รักการไปเที่ยวชายหาดหรือไปว่ายน้ำในสระ อาจมีเรื่องตกตะลึงในซัมเมอร์นี้ ถ้าบังเอิญไปเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ห้างเคมาร์ท ผู้บริโภคที่ดีต้องศึกษาคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน แต่งานนี้เมื่ออ่านคำเตือนบนฉลากที่ด้านในของชุดแล้ว คุณอาจสงสัยว่ามันจะเกิดมาเป็นชุดว่ายน้ำทำไม ถ้าเขาเตือนให้คุณระวังเนื้อผ้าจะโปร่งแสงเมื่อโดนน้ำ ระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ไม่ใส่ชุดลงในสระที่น้ำร้อน ไม่ให้ชุดสัมผัสสารเคมี เช่น ครีมกันแดด โอ้ .. ผลิตภัณฑ์อะไรจะใช้ยากขนาดนี้เนี่ย   Amazon Kindle Paper White ส่วนอันนี้ใช้ไม่ยากแต่อาจจะเชื่อยากนิดหน่อย เป็นใครก็ตื่นเต้นถ้ามีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โฆษณาว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 8 สัปดาห์ คุณคงแอบนึกในใจว่า อุแม่เจ้าเราคงจะอ่านจบไปหลายเล่ม แต่เดี๋ยวก่อนตัวหนังสือเล็กๆ ข้างล่างเขียนว่า “หมายถึงการใช้งานวันละ 30 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์” อ้าว ... คิดสะระตะแล้วเมื่อชารจ์แบตฯจนเต็ม มันก็ใช้งานได้ 28 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นๆ แหม ... อเมซอน ทำเนียนเชียวนะ เครื่องผสมอาหาร Thermomix เรื่องนี้ว่าด้วยความผิดหวังของสาวกเทอร์โมมิกซ์โดยแท้ ผลิตภัณฑ์รุ่น TM 31 เป็นที่นิยมกันในหมู่คุณพ่อบ้านแม่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพอใจ ผู้คนจึงยอมทุ่มเงินเกือบ 2,000 เหรียญเพื่อจะได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ระดับเทพนี้สักตัว รุ่นนี้ขายดิบขายดีมานานกว่า 7 ปี และบริษัท Vorwerk ผู้ผลิตก็ไม่มีที่ท่าว่าจะทำรุ่นใหม่ออกมาเลย ข่าวรั่ว ภาพหลุด ก็ไม่มี แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาบริษัทนี้ก็เปิดตัวเจ้า TM 5 ออกมาในราคา 50 เหรียญซะอย่างนั้น!! แต่คงไม่มีใครแค้นเกินคนที่เพิ่งจะไปสั่งซื้อเจ้ารุ่นละพันกว่าเหรียญเอาไว้ (เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้ขายว่าไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแน่นอน)  และได้รับของไม่กี่วันก่อนของใหม่จะเปิดตัว สุดท้ายบริษัทยอมชดเชยด้วยการแจก/แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องรุ่น TM 31 หลังวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ความเจ็บใจมันไม่หายไปง่ายๆ จากการโหวตของผู้บริโภค 1,041 คน มีถึง 530 คนที่โหวตให้เทอร์โมมิกซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าปวดใจที่สุดในปีที่ผ่านมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 162 กระแสต่างแดน

เจ้าสาวเซลฟี่ โซเชียลมีเดียอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้มีจำนวนคนศัลยกรรมเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ที่ออสเตรเลีย เทรนด์ฮิตในหมู่สาวๆ ออสซี่ ที่กำลังเตรียมตัวสละโสด ณ วันนี้ คือการถ่ายรูปมือที่สวมแหวนแต่งงานลงมา “แบ่งปัน” ออนไลน์ ให้เพื่อนๆ ได้ร่วมแสดงความชื่นชมยินดี ก็ไม่มีอะไรมาก ... เพื่อให้ “มือ” ของพวกเธอในรูปดูสวยที่สุด ว่าที่เจ้าสาวเหล่านี้จึงพากันไปทำศัลยกรรมมือ ด้วยการฉีดสารฟิลเลอร์เพิ่มความเต่งตึง ให้รอยเส้นเลือดที่ปูดโปนหรือรอยแดงบริเวณหลังมือดูลดลง คุณหมอศัลยกรรมท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่าช่วงนี้มีคนไข้ถ่ายรูปมือตัวเองมาให้ดูมากขึ้น เพื่อที่จะอธิบายกับหมอว่ามันไม่สวยอย่างไร และอยากให้ซ่อมตรงไหนบ้างโดยละเอียด กระบวนการทำให้สมบูรณ์แบบเพื่อถ่ายรูปนี้ใช้เวลาประมาณ 10 นาทีเท่านั้น แต่มันอาจส่งผลต่อจิตใจของเรานานกว่าที่คิด ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการเปรียบเทียบร่างกายตัวเองกับรูปถ่ายนั้นมันสามารถทำให้คนเราจิตตกได้ และผลการสำรวจเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็ระบุว่าผู้หญิงออสซี่ส่วนใหญ่ผิดหวังจากการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะคาดหวังสูงเกินไป   ค่าเทอมแพงแห่งแดนกิมจิ ช่วงเปิดเทอมที่เกาหลี ถือเป็นช่วงปวดใจของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัย เพราะค่าเล่าเรียนที่นั่นจัดว่าไม่ธรรมดา แพงเป็นอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เลยทีเดียว แม้รัฐบาลจะจัดเงินกู้เพื่อการศึกษาให้ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังต้องหาเพิ่ม ช่วงปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินมาจ่ายค่าเทอม ที่จะเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายนนั่นเอง ข่าวบอกว่าร้อยละ 70 ของนักเรียนที่จบมัธยมจะสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัย 7 ใน 10 คน จะกู้เงินเรียน มูลหนี้เฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 13,900 เหรียญ(ประมาณ 444,000 บาท) และพวกเขาจะใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการจ่ายเงินคืน โดยนักศึกษาเกือบครึ่งระบุว่ายินดีทำงานอะไรก็ได้หลังเรียนจบเพื่อหาเงินมาให้หนี้ให้หมดโดยเร็ว เหตุที่ค่าเล่าเรียนแพงก็เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของทางมหาวิทยาลัยเอง เนื่องจากประเทศเกาหลีจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 2.6 ของดัชนีมวลรวมให้กับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แม้รัฐบาลจะพยายามจำกัดการขึ้นค่าเล่าเรียน แต่ก็แทบไม่ได้ผลอะไร ปีที่แล้วนักศึกษาที่นั่นยังคงจ่ายค่าเล่าเรียนคนละประมาณ 208,500 บาทต่อหนึ่งภาคเรียน ภาระนี้ยิ่งใหญ่มิใช่น้อย กระทรวงศึกษาธิการก็ยืนยันว่า สาเหตุอันดับหนึ่งของการฆ่าตัวตายในหมู่นักศึกษามหาวิทยาลัยคือเรื่องค่าเล่าเรียนนั่นเอง   เครื่องดื่มสร้างชาติ หลายคนรู้แล้วว่าอิตาลีคือต้นตำรับเอสเปรสโซ่ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่านอร์เวย์นั้นมีเครื่องดื่ม “ประจำชาติ” เป็นกาแฟดำร้อนๆ เหมือนกัน นอร์เวย์มีอัตราการบริโภคกาแฟเป็นอันดับ 3 ของโลก ปีละเกือบ 10 กิโลกรัมต่อคน(อันดับ 1 คือฟินแลนด์ ที่ 12 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่คนละ 1.3 กิโลกรัมต่อปี) ที่นี่เขานิยมดื่มเป็นกาแฟดำร้อนๆ เรียกว่าเป็นเครื่องดื่มประจำบ้าน แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันเริ่มต้นมาอย่างไร ทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจคือกาแฟนั้นเข้ามาแทนที่อัลกอฮอล์ ในช่วงที่มีการห้ามดื่มเครื่องดื่มอัลกอฮอล์ ระหว่างปี 1916 ถึง 1927 อัลฟ์ เครเมอร์ ประธานสมาคมกาแฟแห่งยุโรป ให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผู้คนติดเหล้ากันงอมแงม รัฐบาลจึงประกาศห้ามการต้มเหล้าเด็ดขาด แล้วก็ตัดสินใจว่าจะต้องหาเครื่องดื่มอย่างอื่นมาทดแทน กาแฟดูเหมือนจะเป็นทางออก ในยุคนั้นถ้าใครเข้าโบสถ์ก็จะต้องได้รับการชักจูงจากบาทหลวงให้เลิกเหล้าแล้วหันมาดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชนิดใหม่นี้จึงกลายเป็นเครื่องดื่มสามัญประจำบ้านของคนนอร์เวย์ตั้งแต่นั้นมา แต่เดี๋ยวก่อน ถึงแม้นอร์เวย์จะจริงจังกับการดื่มกาแฟ ประเทศนี้กลับไม่มีร้านกาแฟใหญ่ๆ ระดับนานาชาติมากมายเหมือนบ้านเรา เพราะที่นั่นค่าแรงสูงและกฎหมายการจ้างงานค่อนข้างเข้มงวด ทำให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาทำธุรกิจได้ยาก   รายงานความหิว รายงานเรื่อง Hunger in America 2014 อาจทำให้เราได้รู้อีกแง่มุมหนึ่งของอเมริกันชน Feeding America ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้มีรายได้น้อย ได้ทำการสำรวจดังกล่าวทุกๆ 4 ปี เพื่อรวบรวมปัญหาต่างๆ ของครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหารซึ่งเป็นตัวกลางในการรับบริจาคผัก ผลไม้สด จากเกษตรกรแล้วนำมาแจกจ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ปัจจุบัน เครือข่าย Feeding America มีผู้คนที่อยู่ในความดูแลประมาณ 5.1 ล้านคน ปีนี้เขาพบว่า ร้อยละ 20 ของครัวเรือนอเมริกันที่อยู่ในโครงการจะมีสมาชิกอย่างน้อย 1 คนที่เป็นทหารผ่านศึก และมีอย่างน้อยร้อยละ 4 ที่สมาชิกในครอบครัวเป็นทหารที่ยังประจำการอยู่ด้วย กว่าร้อยละ 50 ของคนที่มาร่วมโครงการ มีสมาชิกในครอบครัวที่ทำงานเต็มเวลา ภาพผู้คนที่มาต่อคิวรับอาหารทั้งที่ยังอยู่ในชุดฟอร์มทำงานก็มีให้เห็นบ่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าร้อยละ 32 ของครอบครัวเหล่านี้ มีสมาชิกที่เป็นโรคเบาหวาน ในขณะที่ร้อยละ 57 มีสมาชิกที่มีความดันเลือดสูงด้วย ในภาพรวมแล้วปีนี้ กว่าร้อยละ 15 ของผู้คนในโครงการ มีปัญหาด้านอาหารและสุขภาพ ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายนั้น เขาพบว่า 3 ใน 4 ของครอบครัวที่เข้ารับความช่วยเหลือจากธนาคารอาหาร เปลี่ยนมาซื้ออาหารที่ราคาถูกลงและมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง เพราะมีเงินไม่พอซื้ออาหารที่ดีกว่านั้นมารับประทานได้   ใครๆ ก็กินได้ เทศกาลไหว้พระจันทร์เวียนมาอีกครั้ง เรามาติดตามนโยบายรัดเข็มขัดสกัดคอรัปชั่นประเทศจีนกันหน่อย นอกจากจะลดการติดสินบนกับข้าราชการแล้ว นโยบายนี้ยังมีผลพลอยได้ที่ทำให้คนทั่วไปได้มีโอกาสเข้าถึงของดีราคาถูกด้วย ฤดูการไหว้พระจันทร์ปีนี้จะมีขนมไหว้พระจันทร์ที่ดีต่อสุขภาพในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมด้วย ปีนี้อุตสาหกรรมอาหารของจีน ซึ่งพบกับยอดขายลดฮวบหลังนโยบายส่งเสริมการประหยัดของรัฐบาล ก็หันมาตั้งเป้าหมายใหม่ที่ตลาดระดับกลางแทน เพื่อให้มีลูกค้ามากขึ้น คราวนี้เขาจึงพากันทำออกมาให้เลือกมากขึ้น บางเจ้ามีให้เลือกถึง 42 ไส้ และที่สำคัญจุดขายคราวนี้คือขนมที่ดีต่อสุขภาพ น้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ ยังไม่นับสูตรสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือสูตรที่ทานแล้วรำลึกอดีต ผู้ประกอบการบอกว่านี่เป็นปรากฏการณ์พิเศษ ทั้งๆ ที่ราคาวัตถุดิบและค่าแรงสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกนั้นกลับต่ำลง เขาจึงเลยมั่นใจว่าปีนี้จะต้องขายดีแน่นอน เพราะไม่ว่าจะต้องประหยัดแค่ไหน แต่ธรรมเนียมก็ยังคงต้องเป็นเช่นเดิม แถมยังเป็นของดี ราคาถูกอีกด้วย ลืมบอกไปว่า สนนราคาของขนมไหว้พระจันทร์ในร้านใหญ่ๆ ที่เมืองจีนปีนี้ อยู่ที่กล่องละ 199 – 399 หยวน (ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท) บางเจ้าจัดให้ถึง 8 ชิ้นต่อกล่องด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 161 กระแสต่างแดน

ร้านหนังสือต้องได้ไปต่อ สถานการณ์ร้านหนังสือในเกาหลีใต้ที่สถิติการอ่านของประชากรเมื่อปีกลายอยู่ที่ 9.2 เล่มต่อปี ก็อาจย่ำแย่ไม่แพ้บ้านเรา สรุปความได้ว่าร้านเล็กอยู่ยาก ร้านใหญ่อยู่ไม่ง่าย มีแต่ร้านออนไลน์เท่านั้นที่ยังทำกำไรต่อเนื่อง ตามกฎหมายของเกาหลีซึ่งให้ความคุ้มครองผู้ผลิตหนังสือเป็นอย่างดีเสมอมา ร้านจะลดราคาหนังสือใหม่ได้ไม่เกินร้อยละ 10 แต่สำหรับหนังสือที่พิมพ์ออกมาเกิน 18 เดือนไปแล้ว ร้านสามารถลดราคาได้ตามความพอใจ ร้านออนไลน์ย่อมเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อได้มากกว่า ผู้คนจึงมักมาเปิดดูเล่มจริงที่ร้านแต่กลับบ้านมือเปล่าไปสั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์อีกที และบางครั้งก็เป็นร้านจากต่างประเทศด้วย สถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วง เพราะจากปี 2003 ถึง 2013 นั้นมีร้านหนังสือปิดตัวไปถึง 1 ใน 3 และในเมืองเล็กๆ บางแห่งไม่มีร้านหนังสือเลย และมีอีกไม่น้อยที่ทั้งเมืองมีร้านหนังสือเพียงหนึ่งร้าน ทั้งนี้เพราะต้องแข่งขัน(อย่างเสียเปรียบ) กับร้านหนังสือออนไลน์และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ นี่ยังไม่นับว่าคนเกาหลีอ่านหนังสือน้อยลงและการใช้จ่ายเพื่อการอ่านก็น้อยลงด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองธุรกิจร้านหนังสือในประเทศ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านขายหนังสือแต่เป็นศูนย์กลางชุมชนที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ ให้สามารถดำรงอยู่ต่อไป กฎหมายที่จะบังคับใช้ในปลายปีนี้จึงห้ามการลดราคาหนังสือเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และห้ามไม่ให้ร้านออนไลน์ยกเว้นการคิดค่าบริการส่งหนังสือ   ด้านร้านหนังสือก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ นอกจากขายหนังสือแล้วก็ยังต้องขายกาแฟ เปิดแกลอรี่โชว์/ขายงานศิลปะ รวมไปถึงมีสนามเด็กเล่นไว้บริการด้วย   ขึ้นหรือลงดี? มาลุ้นกันว่าชาวเมืองปักกิ่งจะต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ารถเมล์ รถไฟสาธารณะมากขึ้นกี่หยวน คงจำกันได้ว่าปักกิ่งเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2008 ตอนนั้นรัฐบาลจีนประกาศลดราคาบัตรโดยสารรถสาธารณะประเภทต่างๆ เพื่อให้ผู้คนเปลี่ยนจากการใช้รถส่วนมาโดยสารรถสาธารณะ การจราจรบนท้องถนนจะได้คล่องตัวขึ้นในช่วงดังกล่าว แต่จนถึงวันนี้ราคายังคงไม่ได้ปรับขึ้น ผู้ประกอบการรถสาธารณะจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐปรับเพิ่มค่าบริการให้สอดคล้องกับต้นทุน ... แต่เดี๋ยวก่อน เงื่อนไขเขาไม่ธรรมดา ข้อเสนอคือขอให้ค่าตั๋วโดยสารรถเมล์เป็นเพียง 1 ใน 3 ของค่าบัตรโดยสารรถไฟที่ปรับขึ้นเท่านั้น เช่น ถ้าค่าตั๋วรถไฟปรับขึ้นไปเป็น 6 หยวน (ประมาณ 30 บาท) ค่าตั๋วรถเมล์ก็ควรขึ้นเป็น 2 หยวนเท่านั้น เป็นต้น เหตุที่ต้องเสนออย่างนี้เพราะที่ผ่านมาคนเมืองปักกิ่งไม่ค่อยนิยมการเดินทางด้วยรถเมล์ พวกเขาเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟใต้ดินเพราะมันทั้งถูกและเร็วกว่า แม้จะไปไหนมาไหนใกล้ๆ ก็ยังใช้บริการรถไฟใต้ดิน หวังว่าเขาจะเลือกลดราคาตั๋วรถเมล์ ไม่ใช่คงราคาตั๋วรถเมล์แล้วไปเพิ่มราคาตั๋วรถใต้ดินนะ   ห่วงสุขภาพ ช่วงนี้บรรดานักการเมืองรัสเซียฟิตจัด พากันเสนอกฎหมาย “เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน” ออกมาอย่างต่อเนื่อง เรียกทั้งเสียงโวยวายและเสียงสนับสนุนได้ไม่น้อย เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ประกาศห้ามการขายชั้นในสตรีที่มีอัตราการระบายความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 6 หมายความว่าตั้งแต่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาจะต้องไม่มีชั้นในที่ทำจากใยสังเคราะห์(เพราะระบายความชื้นได้ไม่เกินร้อยละ 3.6) วางขายตามห้างร้านในเขตรัสเซีย คาซักสถาน และเบลารุส เด็ดขาด เท่านั้นยังไม่พอ เขาเตรียมเสนอให้ห้ามขายร้องเท้าส้นแบนและรองเท้าส้นสูง เพราะมันทำให้เกิดความผิดปกติของเท้า ปัจจุบันกว่าร้อยละ 40% ของคนรัสเซียมีอาการดังกล่าว ส่วนรองเท้าผ้าใบสำหรับคุณผู้ชายก็มีลุ้นจะโดนแบนเช่นกัน รวมถึงในกองทัพด้วยเพราะเขาอ้างว่ารองเท้าผ้าใบทำให้ความพร้อมทางการทหารลดลง ล่าสุดข่าวว่ามีการเสนอให้ห้ามขายบุหรี่ให้กับสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีด้วย เพราะเกรงว่าเด็กรัสเซียรุ่นใหม่ที่จะเกิดมาจะสุขภาพไม่ดีเท่าที่ควร ก่อนหน้านี้ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่บริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ “ไร้จริยธรรม” เม็ดบีดส์เจ้าปัญหา อิลินอยส์เป็นรัฐแรกของสหรัฐอเมริกาที่ประกาศห้ามการผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดพลาสติกแบบที่เราเรียกกันว่า “ไมโครบีดส์” เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพราะมันเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม และขณะนี้กำลังมีการเสนอให้แบนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทั้งประเทศภายในปี 2018 ไมโครบีดส์ ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 1 มิลลิเมตร สามารถหลุดรอดผ่านอุปกรณ์บำบัดน้ำเสียไปลงในแหล่งน้ำได้สบายๆ แค่นิวยอร์ครัฐเดียวก็มีการปล่อยเม็ดพลาสติกเหล่านี้ลงแหล่งน้ำถึง 19 ตันต่อปี ในเขตทะเลสาบน้ำจืดทั้ง 5 (The Great Lakes) เขาก็พบว่ามีเม็ดพลาสติกเล็กๆ พวกนี้อยู่ 466,000 เม็ดต่อตารางกิโลเมตร และมากกว่าร้อยละ 80 ของมันเป็นไมโครบีดส์ที่ใช้ในเครื่องสำอางนั่นเอง รายงานล่าสุดจากองค์กรสหประชาชาติระบุว่า ขณะนี้แหล่งน้ำในโลกของเราเต็มไปด้วยเศษพลาสติกเล็กๆ เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศสัตว์น้ำไม่ต่ำกว่า 13,000 ล้านเหรียญ ทางด้านผู้ผลิตอย่างลอรีอัล และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ตื่นตัวและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ด้วยการเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นอย่างเกลือทะเล เป็นต้น   เครียดจนต้องขาด งานวิจัยพบว่าสถิติการขาดงานอันสืบเนื่องจากสาเหตุเรื่องความเครียดของชาวดัทช์ในปีนี้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ Arboned สำนักวิจัยด้านสุขภาพและความปลอดภัยของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเก็บข้อมูลจากคนทำงาน 1.1 ล้านคน ระบุว่าจากปี 2009 เป็นต้นมานั้น มีคนขาดงานเพราะความเครียดเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า และที่สำคัญแค่ครึ่งแรกของปีนี้ก็มีการขาดงานไปแล้ว 4.6 ล้านวัน ร้อยละ 10 ของวันลางานเหล่านี้มีเหตุผลแนบท้ายว่าเพราะ “เครียด” เมื่อคำนวณดูแล้วพบว่านายจ้างจะมีค่าใช้จ่ายถึง 800 ล้านยูโรสำหรับการขาดงานเพราะสาเหตุนี้ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลางานมากที่สุดได้แก่ ธุรกิจด้านการศึกษา การแพทย์ ไอที และการเงินการธนาคาร ส่วนสาเหตุที่ทำให้เครียดเป็นอันดับต้นคือความวิตกเรื่องภาระการเงินและการหาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตครอบครัว   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสต่างแดน

บราซูก้า!! ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อนหน้านี้ อาดิดาสได้เปิดตัวลูกฟุตบอล “จาบูลานี” ที่ว่ากันว่ากลมที่สุด ตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอลมา เพราะมีชิ้นส่วนเพียง 8 ชิ้นและไม่มีรอยเย็บ แต่เมื่อเหนือฟ้ายังมีฟ้า เทพกว่า “จาบูลานี” ก็ยังมี “บราซูก้า” ลูกฟุตบอลที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนเพียง 6 ชิ้น ที่อาดิดาสผลิตขึ้นเพื่อการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 นี้ กระแสต่างแดนฉบับนี้จึงขอพาคุณเยี่ยมชมโรงงานผลิตลูกฟุตบอลบราซูก้า ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน เรามาดูกระบวนการผลิตและการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์อาดิดาสไปพร้อมๆ กัน บราซูก้ามีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ ลูกบอลชั้นใน ทำจากยางสังเคราะห์ผสมยางธรรมชาติ และชั้นนอกที่ทำจากหนังเทียม ลูกบอลชั้นในที่ทำจากยางจะถูกสูบลมเข้า ทากาว แล้วปิดทับด้วยชิ้นผ้า หลังจากผ่านการตรวจเช็คขนาด ลูกบอลจะถูกทากาวทับอีกรอบก่อนนำไปอบ ลูกบอลที่สูบลมแล้วจะถูกปล่อยทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง ลูกที่รั่วจะถูกนำไปทำลาย ชั้นนอกของลูกบอลประกอบด้วยพื้นผิว 2 ชั้น ชั้นในซึ่งทำด้วยโฟมจะนุ่มและหนากว่า ขั้นตอนนี้มีเสียงดังมาก จากการสังเกตพบว่าพนักงานไม่ได้สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเสียงใดๆ อาดิดาสให้ข้อมูลว่าระดับเสียงในโรงงานไม่เกินมาตรฐาน(ทั้งของจีนและของนานาชาติ) แต่โรงงานก็กำลังพยายามลดเสียงลงด้วยการปรับแต่งเครื่องจักรและการติดตั้งอุปกรณ์ตัดเสียง   พื้นผิวลูกบอลชั้นนอกจะมีการพิมพ์ลวดลายเฉพาะของบราซูก้า โดยใช้เครื่องพิมพ์ทั้งหมด 10 เครื่อง (1 เครื่องต่อ 1 สี) จากนั้นเคลือบด้วยฟิล์มเพื่อป้องกันการขูดขีด ขั้นตอนนี้มีกลิ่นของสารเคมีค่อนข้างมาก พนักงานทุกคนต้องใส่หน้ากาก โรงงานจึงมีกฎให้พนักงานอยู่ในพื้นที่พิมพ์งานต่อครั้งได้ไม่เกิน 20 นาที อาดิดาสแจ้งว่าโรงงานใช้เฉพาะสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ และมีการจัดตรวจสุขภาพให้พนักงานเป็นประจำ ลูกบอลด้านนอกทั้งสองชั้นจะถูกประกบเข้าหากันด้วยกาวและแรงอัดจากเครื่องจักร จากนั้นโลโก้ของอาดิดาสและฟีฟ่าจะถูกพิมพ์ลงไป และเคลือบด้วยแผ่นฟิล์มอีกครั้ง จากนั้นชิ้นส่วนทั้ง 4 ชิ้นจะถูกนำมาทากาวให้ติดกันก่อนนำมาครอบทับลูกบอลชั้นใน จากนั้นอีก 2 ชิ้นที่เหลือจะถูกติดลงไป ขั้นตอนนี้จะทำโดยผู้หญิงเท่านั้น ทางโรงงานบอกว่านิ้วของผู้หญิงมีความยืดหยุ่นมากกว่า ขั้นตอนสุดท้ายคือการอบด้วยความร้อน (thermal bonding) เพื่อให้ทุกชิ้นส่วนติดกันโดยไม่ต้องเย็บ ลูกฟุตบอลที่ทำเสร็จแล้วจะต้องถูกสังเกตอาการเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ถ้าพบว่ามีการรั่วไหลของอากาศมันจะไม่ได้ไปต่อ ส่วนลูกที่สอบผ่านก็จะถูกนำไปจัดลงกล่องเพื่อส่งขายต่อไป   รักษาสิทธิเป็นที่สุด ถ้าเขาไม่ได้ตำแหน่งโจรตัวอย่างไปครองแล้ว เราคงจะยกตำแหน่งผู้บริโภคที่ใช้สิทธิยอดเยี่ยมให้เขาไป หัวขโมยชาวโปแลนด์นายนี้รอบคอบมาก เขาจะสำรวจราคาสินค้าในซูเปอร์มาเก็ตก่อนลงมือเสมอ เนื่องจากกฎหมายของโปแลนด์ระบุว่าการขโมยสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่า 420 ซวอตี(ประมาณ 4,500 บาท) นั้นมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 5 ปี แต่คราวนี้ร้านค้าเจ้ากรรมดันติดป้ายราคาผิด ทำให้ขโมยรายนี้ฉกข้าวของไปในราคาที่เกินความตั้งใจไปประมาณ 20 บาท เมื่อถูกจับได้เขาจึงต้องรับโทษหนัก แม้ตัวจะอยู่ในคุก แต่เขาก็ประกาศกร้าวว่าจะฟ้องซูเปอร์มาเก็ตเจ้านี้ โทษฐานติดราคาหลอกลวงผู้บริโภค …   ได้โปรดอย่ามาตั๋ว เมืองท่องเที่ยวหลักของเวียดนามอย่างฮานอยและฮอยอัน สูญเสียรายได้ประมาณร้อยละ 40 ให้กับมือดีที่มาตัดหน้าขายตั๋วปลอมเพื่อเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวอันงดงามระดับมรดกโลกของเขา ทั้งๆ ที่ราคาตั๋วจริงก็ไม่ได้แพงเว่อร์เสียหน่อย ตั๋วสำหรับชาวต่างชาติราคา 120,000 ดอง (ประมาณ 185 บาท) สำหรับคนท้องถิ่น 80,000 ดอง(ประมาณ 120 บาท) และยังสามารถใช้เข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวได้ถึง 5 แห่ง แต่เชื่อหรือไม่ว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พวกเขาต้องซื้อบัตรผ่านประตูเพื่อเข้าชมเมืองเก่าเหล่านี้ เพราะบริษัททัวร์บางเจ้าลดต้นทุนด้วยการพานักท่องเที่ยวเข้าชมหลังเวลา 6 โมงเย็น (ซึ่งเป็นเวลาที่ให้เข้าฟรี) หรือไกด์บางคนก็พานักท่องเที่ยวซอกแซกหลบจุดที่จะต้องจ่ายค่าผ่านประตูไปเสียดื้อๆ มีผู้คนทั้งในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบว่าเงินค่าตั๋วนั้นจะถูกนำไปใช้เพื่อการซ่อมแซมตึกรามบ้านเรือนเก่าและโบราณสถานอื่นๆ ในพื้นที่มรดกโลกนั่นเอง ข่าวบอกว่าเวียดนามจะคิดระบบตั๋วเข้าชมที่จะทำให้รัฐมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยออกมาภายในปี 2558 นี้ หาดนี้ไม่มีคู่แข่ง อิตาลีมีระบบการบริหารจัดการชายหาดที่ไม่ซ้ำใคร ชายหาดความยาว 7,500 กิโลเมตรนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการอยู่ 28,000 ใบ และมันแทบไม่เคยถูกเปลี่ยนมือ เพราะผู้ที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร เครื่องดื่ม หรือให้เช่าร่ม ในปัจจุบันก็คือลูกหลานตัวเป็นๆ ของผู้ที่เคยได้สัมปทานจากรัฐในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข่าวบอกว่ารัฐเก็บค่าเช่าจาก “ธุรกิจครอบครัว” เหล่านี้ปีละ 3,570 ยูโร แต่ใครที่ไปเช่าช่วงต่ออาจต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงปีละ 250,000 ยูโร แน่นอน ... ชายหาดที่สามารถสร้างรายได้ถึง 10,000 ล้านยูโรต่อปีนั้นย่อมดึงดูดใจนักลงทุนจากทุกแห่งหน แต่ปัญหามันอยู่ที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือทุนใหญ่จากต่างประเทศยังหาโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการครอบครัวไม่ได้เสียที เมื่อ 8 ปีก่อน สหภาพยุโรปประกาศให้ประเทศสมาชิกเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในธุรกิจหลายๆประเภท และบอกให้อิตาลีนำใบอนุญาต 28,000 นี้ออกมาประมูลด้วย ตอนนั้นอิตาลีเตะถ่วงด้วยการขอเวลาไปจนถึงปี 2015 แต่เมือถึงปี 2012 รัฐบาลอิตาลีซึ่งถูกกดดันโดย “ครอบครัว” เหล่านี้ก็ออกกฎหมายที่กำหนดเวลาการประมูลไว้ที่ปี 2020 เสียเลย อีก 6 ปี เรามาดูกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น ...   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสต่างแดน

สเปนจะเริ่มสปาย รัฐบาลสเปนเตรียมแผนเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของชาวสเปนทั้งหมด 34 ล้านบัญชี เพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดกับขบวนการคอรัปชั่น การฟอกเงินและการก่อการร้าย และแผนนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและหน่วยงานที่ดูแลด้านการคุ้มครองข้อมูลแล้ว ตามแผนที่ว่า ธนาคารต่างๆ จะต้องส่งข้อมูลบัญชีออมทรัพย์ กระแสรายวัน และบัญชีฝากประจำ ทั้งของบุคคลและนิติบุคคลให้กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้สรรพากร กองทัพ ศาล และหน่วยสืบราชการลับสามารถเข้ามาตรวจสอบได้สะดวก ใครที่โอนเงินมากกว่า 1,000 ยูโร (ประมาณ 44,500 บาท) และดูมีพิรุธจะถูกจับตา ส่วนการโอนมากกว่า 30,000 ยูโร (ประมาณ 1,335,500 บาท) จะถูกตรวจสอบทุกกรณี และถ้าใครมียอดเงินโอนมากกว่า 3,000 ยูโรต่อเดือนก็จะถูกตรวจสอบ นอกจากนี้การทำธุรกรรมของนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงจะถูกจับตาดูอย่างใกล้ชิด แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วย บรรดาธนาคารต่างๆ ยังไม่มั่นใจเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลลูกค้า ด้านผู้พิพากษาก็ให้ความเห็นว่าข้อมูลดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้เพื่อผลทางการเมืองได้ และในการสืบสวนคดีที่เกี่ยวข้องกับการเลี่ยงภาษี ถ้ามีคำสั่งศาลก็สามารถขอข้อมูลการเงินจากสรรพากรได้อยู่แล้ว องค์กรผู้บริโภคมองว่าไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะบริษัทใหญ่ๆ ของสเปนก็พากันไปตั้งบริษัทย่อยในดินแดนปลอดภาษีกันหมดแล้ว คงไม่เจออะไรในบัญชีที่มีอยู่ในสเปนหรอก ที่สำคัญใครจะเป็นคนรับประกันว่าหน่วยสืบราชการลับจะไม่ร่วมมือกับรัฐบาลหาประโยชน์จากข้อมูลของผู้บริโภค     อีเวนท์ที่ต้องเว้น โศกนาฎกรรมเรือเซวอล ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการบริโภคของประชากรเกาหลี แม้แต่กิจกรรมการตลาดเพื่อเกาะกระแสบอลโลกในเดือนมิถุนายนที่เตรียมกันไว้ก็ยังมีอันต้องพับไป ผู้เชี่ยวชาญฟันธงว่า ถ้าใครบังอาจจัดงานรื่นเริงตอนนี้ จะได้ผลในทางตรงกันข้ามต่อแบรนด์ของตัวเองแน่นอน แม้แต่ฮุนไดมอเตอร์ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) ที่เตรียมจัดงานส่งเสริมการตลาดมากมายเช่น เกมส์ชิงรางวัลตั๋วฟรีไปดูนัดที่เกาหลีใต้ลงแข่ง การแจกลูกฟุตบอล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์ World Cup ก็ต้องงดไปหลายงาน โฆษณาของฮุนไดที่ทำออกมาเป็นแนวขำขันเพื่อสร้างความคึกคักในช่วงเทศกาลบอลโลกและเป็นความหวังของบริษัทที่จะกระตุ้นยอดขายในวันที่รถเกาหลีกำลังถูกรถจากต่างประเทศเข้ามาแย่งตลาด ก็ยังถูกเลื่อนการออกอากาศไปโดยไม่มีกำหนด บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่อันดับสองของเกาหลี K2 ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของทีมฟุตบอลโสมขาว ยักษ์ใหญ่อย่างซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ และแฟรนไชส์ร้านกาแฟ Caffe Bene ก็เช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าโศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลต่อการบริโภคมากกว่าเหตุการณ์ครั้งใดๆ ที่ผ่านมา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนไม่ต้องการจับจ่ายใช้สอย มีส่วนร่วมในกิจกรรมบันเทิง หรือเดินทางท่องเที่ยว เห็นได้จากยอดใช้บัตรเครดิตก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงวันที่ 16 ถึง 22 เมษายน และคงจะเป็นเช่นนี้ไปถึงไตรมาสที่สาม รุ่นใหม่ประหยัดไฟกว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา นิวซีแลนด์ต้องเผชิญกับสถานการณ์ไฟฟ้าดับเป็นเวลานานอยู่หลายครั้ง จากการเกิดภัยธรรมชาติ แต่ผลการสำรวจพบว่าผู้คนยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควรในการเตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว การสำรวจของผู้ให้บริการไฟฟ้า Canstar Blue พบว่า ชาวเมืองโอคแลนด์มีการเตรียมพร้อมน้อยที่สุด ร้อยละ 43 ยังไม่ได้เตรียมระบบไฟสำรองไว้ใช้ เช่นเดียวกับเมืองเวลลิงตันและเมืองแคนเทอบรี ที่ร้อยละ 35 และร้อยละ 29 ของประชากรก็ยังไม่พร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินเช่นกัน ผลสำรวจที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การเปลี่ยนเจ้าผู้ให้บริการไฟฟ้าของผู้บริโภค เพื่อหาเจ้าที่คุ้มค่าและเหมาะกับการใช้ของตัวเองมากที่สุด (นิวซีแลนด์มีผู้ประกอบการหลายเจ้า และมีหลายโปรโมชั่น คล้ายๆ กับโทรศัพท์มือถือ) ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วมากนัก มีร้อยละ 30 คิดอยากจะเปลี่ยนแต่ยังไม่ลงมือทำจริงๆ และปีนี้ก็มีคนคลิ๊กเข้าไปใช้เครื่องมือในอินเตอร์เน็ทเพื่อเปรียบเทียบราคาค่าไฟของผู้ประกอบการแต่ละเจ้าน้อยลงด้วย แต่เดี๋ยวก่อนข่าวดียังมีอยู่ ... เขาพบว่าชาวกีวีที่อยู่ในเจนวาย (อายุระหว่าง 18 – 29 ปี) เป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดที่สุด และเป็นกลุ่มที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ ด้วย   ผู้บริโภคเตรียมรับเละ ใครมีแผนจะไปซื้อทัวร์ในบราซิลโปรดฟังทางนี้ หลังจากผลักดันกันมากว่า 12 ปี ร่างกฎหมายกำกับดูแลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในบราซิลฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาในเบื้องต้นแล้ว เหลือเพียงการรับรองโดยประธานาธิบดีเท่านั้น กฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดชอบของบริษัททัวร์ที่มีต่อลูกค้า มีทั้งหมด 28 มาตรา มีมาตราหนึ่งระบุว่าถ้าการส่งมอบบริการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพคเก็จท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน โปรแกรมทัวร์ชมเมือง ไม่เป็นที่พอใจของลูกค้า ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะถือเป็นภาระของผู้บริโภค ไม่บอกคุณก็คงรู้ว่าร่างนี้ผลักดันโดยสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวแห่งบราซิล (เขาอ้างว่าที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นความผิดของใคร บริษัทก็ต้องเป็นคนจ่ายทุกที อย่างนี้ขาดทุนซ้ำซาก ลืมตาอ้าปากไม่ได้ซักที) แม้ผู้บริโภคจะยังมีสิทธิที่จะนำเรื่องฟ้องศาลเพื่อการเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ก็ต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากความผิดพลาดของบริษัท (แล้วใครจะอยากฟ้องล่ะนี่) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายผู้บริโภคบอกว่า ถ้ากฎหมายนี้ผ่านจริง นี่จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่สำคัญมันขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคและรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค   กังหันลมประจำบ้าน ข่าวดีสำหรับชาวดัทช์ เดี๋ยวนี้เขาสามารถซื้อกังหันลมขนาดเล็กมาติดหลังคาบ้าน (แบบเดียวกับที่เราติดจานดาวเทียมบนหลังคานั่นแหละ) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าไว้ใช้เองในครอบครัว บริษัทอาคิมิดิส ผู้ผลิตกังหัน Liam F1 Wind บอกว่ากังหันหนึ่งตัวสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประมาณครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนทั่วไปและมันจะไม่ทำเสียงดังสร้างความรำคาญให้ผู้อยู่อาศัย ด้วยสนนราคา 4,000 ยูโร (ประมาณ 180,000 บาท) จุดคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 8 – 15 ปี บริษัทบอกว่าเจ้ากังหันมินิที่มีความสูง 1.5 เมตร หนัก 75 กรัม จะมีหลายสีให้เลือกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการอุปกรณ์ประหยัดไฟที่ช่วยสร้างสีสันให้กับบ้านไปพร้อมๆ กัน ข่าวบอกว่าเขาจะทำสีทองไปขายในตะวันออกกลางด้วยนะ แต่ข่าวไม่ได้บอกว่าเขาจะทำมาขายเมืองไทยหรือไม่ รู้กันไว้ให้น้ำลายไหลเล่นๆ ในวันที่บ้านเรายังไม่มีการพูดถึงการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานของแต่ละครัวเรือน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอนำเสนอบางส่วนจากการประชุมนานาชาติเรื่อง “การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล” เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่ ประเทศไทยเรานี่เอง งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากองค์กรที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคกว่า 200 คน จาก 32 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน อัฟกานิสถาน เนปาล โอมาน อียิปต์ เยเมน ลิเบีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย ซูดาน ซิมบับเว อัฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ชิลี สโลเวเนีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา)   นาทีนี้ถ้าไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอลก็กลัวจะเชย เราจึงนำประเด็นที่วิทยากรจากต่างประเทศนำเสนอมาฝากกัน ... เริ่มจากเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอาเซียนอย่างสิงคโปร์กันก่อนเลย     สิงคโปร์ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนตกลงกันว่าจะเปลี่ยนไปสู่ระบบดิจิตอลให้หมดภายในปี 2020  สิงคโปร์ก็เริ่มเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทีวีดิจิตอลตั้งแต่ปี 2013 แล้ว เขาใช้กล่องรับสัญญาณดิจิตอล มาตรฐาน DVB-T2 เหมือนบ้านเรา สนนราคาที่ขายกันอยู่ก็สูงตามค่าครองชีพ อยู่ที่ประมาณ 3,000 กว่าบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือการให้ความช่วยเหลือกับครัวเรือนรายได้น้อย (ได้แก่ ครัวเรือนที่เป็นผู้เช่าอาศัยแฟลตขนาดไม่เกิน 2 ห้องนอน ครัวเรือนที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 1,900 เหรียญ ที่สำคัญต้องไม่เป็นสมาชิกเคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมอยู่ก่อน และคนที่อยู่ภายใต้โครงการความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ) รวมๆ แล้วมีผู้ที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลืออยู่ประมาณ 170,000 ครอบครัว สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์เล่าถึงประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านฯ ว่ารัฐบาลได้ขอความเห็นจากสมาคมฯ รวมถึงข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนรายได้น้อย รวมถึงทำงานร่วมกับภาคธุรกิจโดยเรียกร้องให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคด้วย สิงคโปร์เขามีการกำหนดหลักประกันว่าประชาชนต้องสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ได้ โดยอาจมีการเรียกเก็บค่าบริการบ้างเล็กน้อย จึงไม่ต้องรับมือกับปัญหา “จอดำ” และตามสไตล์สิงคโปร์การโฆษณาในทีวีจะถูกกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โฆษณาอกฟูรูฟิตคงจะหาดูได้ยากหน่อย   เกาหลีใต้ ขยับออกไปไกลอีกนิด ไปที่เกาหลีใต้กันบ้าง การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิตอลของเกาหลีใต้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2540 และเขามีการหยุดระบบอนาล็อคไปในเดือนธันวาคมปี 2555  โดยแผนการดำเนินงาน 4 ขั้นตอน เริ่มจากการรณรงค์ระดับชาติให้ผู้บริโภคได้รับรู้และเข้าใจเรื่องทีวีดิจิตอล  จากนั้นเริ่มทดลองปิดระบบอนาล็อค ในระหว่างปี 2553 - 2554  จากนั้นทำการตรวจสอบประเมินการปิดระบบอนาล็อค และขั้นตอนสุดท้ายคือการ ติดตามการดำเนินงานเรื่องการจัดสรรช่องใหม่ ตามความเห็นของผู้บริหารองค์กรผู้บริโภคแห่งเกาหลี การปิดระบบอนาล็อคนั้นถือว่าได้ผลดี และทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ตั้งแต่องค์กรผู้บริโภค บริษัทผู้ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ (ซัมซุงและแอลจี) และผู้ประกอบการโทรทัศน์ เป็นต้น บทเรียนจากการทำงานของเกาหลีฝากไว้ให้กับประเทศที่กำลังจะทำการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลคือ 1. ในการเปลี่ยนผ่านนั้น จะต้องมีการให้ข้อมูลที่เพียงพอและให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้บริโภคในการใช้เทคโนโลยีใหม่(ผู้บริโภคเกาหลีสามารถรับกล่องสัญญาณโดยไม่มีค่าใช้จ่าย .. อิจฉาล่ะสิ) 2. ควรมีศูนย์ข้อมูลสำหรับผู้บริโภคที่มีความพร้อมในการรับเรื่องร้องเรียนที่จะเกิดขึ้น   อินเดีย ไปที่ประเทศที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าโทรทัศน์เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต (ชนิดไม่มีหลังคาบ้านยังพออยู่ได้ แต่ไม่มีเคเบิลดูละครฉันไม่ยอมเด็ดขาด) ที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้  ตัวแทนจากฟอรั่มผู้บริโภคมุมไบเล่าให้เราฟังว่าปัจจุบัน อินเดียมีช่องโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่า 900 ช่องและรายได้ของธุรกิจโทรทัศน์ในปี 2013 ก็สูงถึง 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2523 – 2532 อินเดียมีผู้ประกอบการโทรทัศน์เพียง 1 รายเท่านั้น องค์กรผู้บริโภคให้ความเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลนี้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ผู้บริโภคได้ประสบการณ์การรับชมรับฟังที่ดีขึ้น มีทางเลือกมากขึ้น และมีบริการเพิ่มมูลค่ามากขึ้นด้วย ในขณะที่ภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเรียกเก็บค่าบริการอย่างโปร่งใสและมีรายได้เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และผู้ประกอบการก็ได้รับผลกำไรจากการบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยเช่นกัน แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่อินเดียต้องทำเป็นอย่างแรกคือการหลอมรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด (ซึ่งขณะนี้ยังมีความลักลั่นกันอยู่) เพื่อรองรับปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ลืมบอกไปว่างานประชุมนานาชาติครั้งนี้ร่วมจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International)   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >