ฉบับที่ 272 BKK Rail รวมเส้นทางรถไฟฟ้า

        ระบบสาธารณูปโภค ด้านการให้บริการการเดินรถสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า ได้เริ่มเปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2542 เพื่ออำนวยความสะดวกและอำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ซึ่งระบบรถสาธารณะประเภทรถไฟฟ้า ได้เข้ามาเป็นตัวเลือกต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก โดยเฉพาะประชาชนรุ่นใหม่ที่นิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเป็นหลัก จนแทบจะไม่รู้จักการเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกันแล้ว
        เมื่อกล่าวถึงการเดินทางในรูปแบบรถไฟฟ้านั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะคุ้นเคยต่อการเดินทางในลักษณะเช่นนี้เป็นอย่างดี แต่ก็ใช่ว่าจะคุ้นเคยกับทุกเส้นทาง รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่แทบจะไม่มีความคุ้นเคยกับการเดินทางโดยใช้รถไฟฟ้าเลย ดังนั้นฉบับนี้ขอเอาใจทุกคนที่ยังสับสนกับการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในทุกรูปแบบ



 
        เพียงกดดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า BKK Rail ของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านระบบปฏิบัติการ iOS หรือ Android บนสมาร์ทโฟนได้เลย 
        การใช้งานง่ายไม่ยุ่งยาก มีให้เลือกเส้นทางรถไฟทั้งหมด 9 สี 9 สาย ได้แก่ สายที่ 1 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท (สีเขียวอ่อน) เดินทางจากสถานีคูคตไปสถานีเคหะฯ สายที่ 2 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม (สีเขียวเข้ม) เดินทางจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไปสถานีบางหว้า สายที่ 3 รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีน้ำเงิน เดินทางจากสถานีหัวลำโพงไปสถานีบางแค และสถานีบางซื่อไปสถานีท่าพระ สายที่ 4 รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง เดินทางจากสถานีเตาปูนไปสถานีคลองบางไผ่ สายที่ 5 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงเข้ม เดินทางจากสถานีกลางบางซื่อไปสถานีรังสิต สายที่ 6 รถไฟฟ้า SRTET สายสีแดงอ่อน เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีตลิ่งชัน สายที่ 7 รถไฟฟ้าสายสีทอง เดินทางจากสถานีกรุงธนบุรีไปสถานีคลองสาน สายที่ 8 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ หรือ ARL เดินทางจากสถานีพญาไทไปสถานีสุวรรณภูมิ และสายที่ 9 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง หรือ YL เดินทางจากสถานีลาดพร้าวไปสถานีสำโรง ทั้งนี้ ในปี 2567 จะเปิดรถไฟฟ้าสายสีชมพู เดินทางจากสถานีแครายไปสถานีมีนบุรี 
        เมื่อกดเลือกเส้นทางรถไฟจากทั้งหมด 9 สี 9 สายแล้ว แอปพลิเคชันจะปรากฎสถานีทั้งหมดของสายรถไฟนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเลือกสถานีที่ต้องการ โดยจะแสดงช่วงตารางเวลาที่รถไฟฟ้าจะเดินทางมาถึงสถานี พร้อมกับรายละเอียดสิ่งอำนาวยความสะดวก นอกจากนี้ยังสามารถกดเชื่อมต่อไปยัง Google Map เพื่อแสดงแผนที่ในการเดินทางไปยังสถานีนั้นได้อีกด้วย 
        อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจ จะเป็นการค้นหาข้อมูลของเส้นทางเดินทาง โดยเลือกสถานีจุดเริ่มต้น และสถานีจุดหมายปลายทางที่จะไป เพียงเท่านี้แอปฯ ก็จะแนะนำเส้นทางที่สะดวกและรวดเร็วที่สุดให้ผู้ใช้เลือก แถมยังคำนวณเวลาที่ใช้เดินทาง ราคาค่าโดยสาร และจำนวนสถานีเพิ่มเติม 
        เมื่อเดินทางไปไหนไม่ถูก ลองเปิดใช้แอปพลิเคชัน BKK Rail ที่ได้รวบรวมเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งหมด 9 สี 9 สายมาไว้ที่เดียวกันดู แล้วจะรู้ว่าแอปพลิเคชันนี้เป็นตัวช่วยให้กับนักเดินทางที่ไม่ชำนาญเส้นทางได้มากเลยทีเดียว

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค แอปพลิเคชัน BTS รถไฟฟ้า สาธารณูปโภค MRT

ฉบับที่ 278 ฮีลใจเพิ่มพลังผ่านแอปพลิเคชัน

        ฉบับนี้ขอแนะนำคำว่า “ภาวะหมดไฟ” เป็นความรู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้าทางอารมณ์ รู้สึกสูญเสียพลังจิตใจ ไม่มีกำลังใจ ไม่อยากทำอะไร ฯลฯ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน จากครอบครัว จากสังคมได้ทั้งสิ้น ภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแน่นอน หลายคนที่เกิดภาวะหมดไฟจะพยายามหาทางออกในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เช่น ทานอาหารอร่อยๆ นั่งเล่นตามร้านเบเกอรี่ เดินเล่นตามสถานที่ต่างๆ ไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ช้อปปิ้ง ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ เป็นต้น         เมื่อจิตใจหมดพลัง การทำความเข้าใจและให้กำลังใจกับตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ณ ช่วงเวลานั้น ครั้งนี้จึงมาแนะนำการฮีลใจผ่านแอปพลิเคชัน 2 แอปพลิเคชัน ดังนี้ อันแรกคือ แอปพลิเคชัน WithU ที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาขึ้นมาเพื่อส่งต่อความรู้สึกดีๆ ผ่านตัวอักษร ทำให้เกิดพลังบวกให้กับผู้อ่าน ลดความเครียดความวิตกกังวล พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมและให้กำลังใจในเวลาท้อแท้ได้เป็นอย่างดี ขอยกตัวอย่างข้อความฮีลใจในแอปพลิเคชันนี้กันสักหน่อย             “วันนี้มันก็แค่วันแย่ๆ วันนึง เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็เช้าแล้วนะ”             “วันนี้เธอเจออะไรมาบ้าง เหนื่อยมั๊ย สู้ๆน้าา กอดๆคนเก่ง”             “ขอให้ฝนหยุดตกในใจเธอ แล้วมีสายรุ้งเข้ามาแทนนะ”         ประโยคอาจจะดูเลี่ยนๆ หน่อย แต่เชื่อเถอะว่าสำหรับผู้ที่กำลังต้องการกำลังใจและเหนื่อยล้ากับชีวิต อ่านแล้วจะรู้สึกดีและมีพลังเดินต่อได้ เป็นประโยชน์ต่อการฮีลใจได้อย่างมาก         อันที่สอง แอปพลิเคชัน MOODA เป็นแอปพลิเคชันสำหรับบันทึกอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละวัน ซึ่งรูปแบบในการบันทึกจะผ่านไอคอนสีหน้าตามอารมณ์หรือความรู้สึกแบบต่างๆ เพื่อแทนอารมณ์และความรู้สึกในแต่ละวัน มาพร้อมกับสีของไอคอนที่แตกต่างกันออกไปตามความรู้สึกนั้นๆ        การใช้งานภายในแอปพลิเคชัน MOODA จะเริ่มจากการกดมีสัญลักษณ์เครื่องหมายบวกด้านล่าง จากนั้นให้เลือกไอคอนสีหน้าตามอารมณ์ความรู้สึกในวันนั้น และเลือกวันเดือนปีที่ต้องการบันทึก ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการใส่ข้อความตามความรู้สึกที่จะบอกให้ตัวเองได้รับรู้และเก็บบันทึกไว้อ่านในอนาคต และกดบันทึก หลังจากนั้นไอคอนจะปรากฎบนปฏิทิน         เมื่อผู้ใช้แอปพลิเคชันบันทึกอารมณ์ความรู้สึกทุกวัน จะช่วยทำให้เข้าใจตนเองว่าอารมณ์ความรู้สึกในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ซึ่งอาจจะช่วยในการปรับอารมณ์ได้ดีมากขึ้น         การได้อ่านข้อความฮีลใจและการได้ระบายบอกตนเองให้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึก เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะลดความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวล ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจไม่มากก็น้อย ลองมารักษาใจผ่านแอปพลิเคชันWithU และแอปพลิเคชัน MOODA กัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 เขียนคำให้ถูกต้องกับราชบัณฑิตยสถาน

        การทำงานในแต่ละอาชีพ บางครั้งจำเป็นต้องใช้เอกสารในการดำเนินเรื่อง อาจจะอยู่ในรูปแบบบันทึกข้อความ โครงการ ผลการดำเนินการ เอกสารการขออนุมัติ เป็นต้น ดังนั้นการเขียนเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ได้นั้น นอกจากจะต้องเล่าเรื่องความเป็นมาได้แล้ว การเขียนก็มีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งการเขียนเอกสารสำคัญย่อมจำเป็นต้องเขียนให้ถูกต้องเสมอ         เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนเอกสารเหล่านั้น หลายคนน่าจะเคยสะดุดกับคำบางคำ ที่ทำให้ไม่แน่ใจว่าต้องเขียนให้ถูกต้องอย่างไร ยิ่งถ้าอยู่ในแผนกที่ต้องให้ความสำคัญกับการเขียนและการสะกดคำที่ถูกต้องแล้วนั้น ยิ่งจำเป็นต้องค้นหาและตรวจสอบคำต่างๆ ตลอดเวลา ดังนั้นการมีตัวช่วยที่สามารถพกพาติดตัวไปได้ทุกที่ น่าจะเป็นเรื่องที่ตอบโจทย์ได้ดี         เมื่อต้องการค้นหาและตรวจสอบคำผิดถูก ทุกคนจะนึกถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ที่ทำหน้าที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดทำพจนานุกรม สารานุกรม อักขรานุกรม อนุกรมวิธาน การบัญญัติศัพท์วิชาการสาขาต่างๆ ซึ่งสามารถค้นหาและตรวจสอบคำถูกผิดฉบับออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ที่ https://dictionary.orst.go.th/          อย่างไรก็ตาม ด้วยยุคสมัยปัจจุบัน เทคโนโลยีจะถูกนำมาย่อในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค เล็งเห็นความสำคัญและเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลวิชาการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์” ที่มีชื่อว่า “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” และ “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายแค่ปลายนิ้ว         การใช้งานของทั้ง 2 แอปพลิเคชันไม่มีความซ้ำซ้อน เพียงแค่เข้าไปยังหมวดที่ต้องการและค้นหาคำศัพท์เท่านั้น โดยจะอธิบายความแตกต่างของหมวดภายในแอปพลิเคชัน ดังนี้         “แอปพลิเคชันพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดค้นหาคำศัพท์ หมวดค้นตามหมวดอักษร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ                 “แอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” จะแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 5 หมวด ได้แก่ หมวดอ่านอย่างไร หมวดเขียนอย่างไร หมวดประวัติการค้นหา หมวดบุ๊กมาร์ก และหมวดข้อมูลอื่นๆ         ทั้งนี้ หมวดบุ๊กมาร์ก เป็นหมวดที่ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้บันทึกคำศัพท์ที่ค้นหาบ่อยหรือมีความพิเศษที่ต้องการเก็บไว้ และที่น่าสนใจ คือ หมวดข้อมูลอื่นๆ ในแอปพลิเคชันอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน จะมีข้อมูลการสอนอ่านพยัญชนะ ตัวเลขบอกเวลา เลขหนังสือราชการ การอ่านเครื่องหมายต่างๆ ฯลฯ อีกด้วย         เพียงแค่มีแอปพลิเคชันของสำนักงานราชบัณฑิตยสภามาเป็นตัวช่วย การสะกดคำให้ถูกต้องก็จะไม่ยากอีกต่อไป 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 SAANSOOK สานสุขกายสุขใจ

        ยุคสมัยเปลี่ยนไปขนาดไหน โลกจะหมุนวันเวลาไปนานมากเท่าไร ยังคงมีสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนใฝ่ฝันที่อยากจะเป็น นั่นคือ การมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือประโยคที่ว่า การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธประโยคนี้ได้จริงๆ      การจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงได้ ต้องดูแลรักษาสุขภาพตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ไปจนถึงการรักษาสุขภาพใจให้มีความสุข โดยฉบับนี้มาแนะนำตัวช่วยในการควบคุมดูแลเพื่อวางแผนสุขภาพอย่างใกล้ชิดบนสมาร์ทโฟนที่สามารถพกพาติดตัวได้ตลอดเวลา อย่างแอปพลิเคชัน SAANSOOK ที่สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั้งระบบปฏิบัติการ Android และระบบปฏิบัติการ iOS         มารู้จักแอปพลิเคชัน “SAANSOOK” หรือ “สานสุข” กัน โดยพัฒนาขึ้นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และภาคีเครือข่าย แค่ชื่อก็รู้ได้เลยว่าเป็นแอปพลิเคชันที่มาช่วยให้การดำเนินชีวิตที่เคร่งเครียด ให้ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งแอปฯ นี้จะมาเป็นผู้ช่วยที่จะทำให้มองเห็นสถานการณ์สุขภาพปัจจุบันของผู้ใช้แอปฯ ชัดเจนขึ้น และคอยวางแผน บริหารจัดการ และแนะนำด้านสุขภาพอย่างใกล้ชิด ทั้งการกิน การนอน การออกกำลังกาย และการรักษาสุขภาพใจให้มีความผ่อนคลาย ออกมาในรูปแบบของข้อมูลตัวเลขและเชื่อถือได้         เบื้องต้นแอปพลิเคชันจะให้กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวเพื่อเก็บเป็นประวัติ ได้แก่ วันเกิด เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง สัดส่วนรอบเอว และสอบถามเพิ่มเติมถึงพฤติกรรมการออกกำลังกาย โรคประจำตัว เป้าหมายสุขภาพที่ให้เลือก ได้แก่ เป้าหมายการลดน้ำหนัก เป้าหมายในการรักษาน้ำหนัก หรือเป้าหมายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ โดยแอปพลิเคชันจะให้กรอกตัวเลขเพื่อกำหนดเป้าหมายต่างๆ เมื่อกรอกเสร็จสิ้นจะเข้าสู่หน้าหลักที่มีหมวดสำคัญดังนี้ หมวดภาพรวมสุขภาพ เป็นหมวดรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติของพลังงาน ปริมาณการกินอาหารและน้ำ ชั่วโมงการนอนพักผ่อน และหมวดแนะนำเพื่อคุณ เป็นหมวดที่รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อแนะนำการกิน การนอน การออกกำลังกาย ซึ่งในหมวดนี้เหมาะสำหรับสายควบคุมน้ำหนักอย่างมาก         ในส่วนของการบันทึกการกินจะอยู่ในหมวดภาพรวมสุขภาพ โดยจะให้บันทึกมื้ออาหารในแต่ละมื้อ จากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณปริมาณแคลอรี่ของอาหารแต่ละประเภทนั้นให้เห็นชัดเจนว่ามีคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันรวม ไขมันอิ่มตัว ไฟเบอร์ น้ำตาล และโซเดียม ในปริมาณเท่าใด การคำนวณแคลอรี่และคำนวณข้อมูลเมนูอาหารเหล่านี้ จะช่วยทำให้ผู้ใช้รู้เท่าทันและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้มีคุณภาพได้         นอกจากนี้ ยังสามารถบันทึกการดื่มน้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนการดื่มน้ำในแต่ละวันให้เพียงพอ และบันทึกความผ่อนคลาย เพื่อให้รู้เท่าทันอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการรักษาดูแลและเยียวยาจิตใจให้มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีอย่างสม่ำเสมอ         ลองดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SAANSOOK เพื่อสานสุขทั้งกายและใจ กันดูนะคะ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ฝึกฝนภาษาบนสมาร์ทโฟนด้วยปลายนิ้ว

        การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่ว่าจะอยู่ในช่วงอายุใดก็ตาม เมื่อได้เรียนรู้ ทักษะความสามารถย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านห้องเรียนเท่านั้น การอ่านหนังสือ การอ่านข้อมูลจากแหล่งต่างๆ การเล่าสู่กันฟัง การอธิบายยกตัวอย่าง ฯลฯ รวมถึงการฝึกฝนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจก็เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เช่นกัน         ปัจจุบันภาษาเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากลที่ช่วยในการสื่อสารกันทั่วโลก ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในภาษาอังกฤษ ทั้งทางด้านการพูด การฟัง การอ่าน และการเขียน ก็มีความสำคัญอย่างมาก        ฉบับนี้มาแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องใช้ทักษะด้านการอ่าน การเขียน และการฝึกพูด ด้วยแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า Johnny Grammar Word Challenge ของ British Council ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ แอปพลิเคชันนี้เป็นการทดสอบคำศัพท์ การสะกดคำ และไวยากรณ์สำหรับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันของผู้เรียนภาษาอังกฤษ โดยทดสอบผ่านการทำแบบฝึกหัดจากการแข่งขันกับเวลาภายในระยะเวลา 60 วินาที การเข้าใช้แอปพลิเคชัน ผู้ใช้สามารถเลือกลงทะเบียนเข้าใช้โดยการกรอกข้อมูลส่วนตัว หรือเข้าใช้ผ่าน facebook หรือเลือกเข้าใช้แบบ guest ซึ่งไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว โดยภายในแอปพลิเคชันจะมีหมวดการทดสอบ 3 หมวด ได้แก่ หมวด Grammar (ไวยากรณ์) หมวด Words (คำศัพท์) และหมวด Spelling (สะกดคำ)         หมวด Grammar เป็นหมวดที่ทดสอบด้านไวยากรณ์ แบ่งตามหัวข้อจากระดับง่ายไปจนถึงระดับยาก ดังนี้ หัวข้อคำบุพบท (preposition) หัวข้อกริยาไม่ปกติ (Irregular verbs) หัวข้อคำคุณศัพท์และคำกริยาวิเศษณ์ (Adjectives & adverbs) หัวข้อคำนามนับได้และคำนามนับไม่ได้ (Countable and uncountable) หัวข้อกริยาที่มี  to และไม่มี  to หรือกริยาที่เติม ing และใช้แบบ noun (Infinitives or gerunds) หัวข้อการใช้คำ More or less หัวข้อเกี่ยวกับสี (Expression with colour) หัวข้อการใช้คำ Few and little หัวข้อคำวิเศษณ์ (Adverbial Clauses) หัวข้อกริยาช่วย (Modals) หัวข้อคำเชื่อม (Linkers) และหัวข้อคำสันธาน (Conjunctions)         หมวด Words (คำศัพท์) เป็นหมวดที่ทดสอบด้านคำศัพท์ แบ่งตามหัวข้อตามกิจกรรม ดังนี้ หัวข้อร้านอาหาร หัวข้อการท่องเที่ยว หัวข้อการสนทนาสั้นๆ หัวข้องานอดิเรก หัวข้อคำ idioms หัวข้อแสดงความเป็นตัวตน หัวข้อความสนใจ หัวข้อการทำงาน หัวข้อการสนทนาง่ายๆ และหัวข้อช้อปปิ้ง ส่วนหมวด Spelling เป็นหมวดที่ทดสอบด้านการสะกดคำ เมื่อกดในหมวดนี้แอปพลิเคชันจะนำไปสู่การทดสอบโดยกำหนดโจทย์ในรูปแบบประโยคและให้ผู้ใช้เลือกคำให้เหมาะสม ซึ่งในหมวดนี้จะเป็นการทบทวนการใช้ประโยคไปในตัว ทั้งนี้เมื่อจบบททดสอบการสะกดคำแล้ว แอปพลิเคชันจะสรุปและเฉลยคำตอบทีละข้อเพื่อให้ตรวจสอบและทำความเข้าใจอีกครั้งมาฝึกฝนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษกันผ่านแอปพลิเคชันนี้กัน เพราะการเรียนและฝึกฝนทุกวันจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเราได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)